ทอท.ขนสารพัดวิธีเร่งระบายผู้โดยสารแออัดสนามบิน

คมนาคมตื่น!เกาะติดสถานการณ์คนใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ – ดอนเมือง ล้น!สั่งตั้งศูนย์ติดตามปริมาณเข้าออกผู้โดยสารเพื่อหาวิธืระบายคนออกจากสนามบิน ด้าน ทอท.เจ้าของพื้นที่ แก้ปัญหาระยะสั้นหลังพบขนกระเป๋าผู้โดยสารล่าช้า เปิดให้สายการบินขนกระเป๋าผู้โดยสารเอง พร้อมเร่งประมูลเอกชนเข้ามาขนกระเป๋าเตรียมเสนอ ครม.ในเดือนธันวานี้ ส่วนระยะยาวเร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมบริการผู้โดยสาร

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานบูรณาการการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1มิ.ย. 65 ส่งผลให้ปริมาณการเดินทางทางอากาศของประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น  และพบว่า การให้บริการบางจุดมีลักษณะเป็นคอขวด  ประกอบกับเดือน พ.ย.เข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศผ่าน สนามบินสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้การบริหารจัดการของทั้ง 2 สนามบินมีประสิทธิภาพที่ประชุมมีมติเห็นชอบ กรอบการปฏิบัติงานของคณะทำงานบูรณาการฯ ทั้งระยะเร่งด่วน (ภายใน 15 วันทำการ) ระยะปานกลาง และระยะยั่งยืน โดยตั้งศูนย์ Single Command Center เพื่อติดตามสถานการณ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการ Flow ผู้โดยสารในช่วงที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นทุกกระบวนการให้เป็นไปด้วยความคล่องตัวไม่ติดขัด ตั้งแต่จุดตรวจหนังสือเดินทาง จุดรับสัมภาระผู้โดยสาร รวมทั้งกระบวนการทางศุลกากร และระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อท่าอากาศยาน เช่น รถแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะ ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้บริการและมีความรวดเร็ว เพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.)เปิดเผยว่า ในการแก้ไขปัญหาการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ให้เกิดแออัดในการบริการว่า ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นจะมีการบูรณาการการบริหารจัดการผ่านศูนย์ฯ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่ปัญหาในระยะสั้นที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการปัญหาหนึ่งคือ การขนส่งกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารโดยผู้ประกอบการภาคพื้น Outsource ของสายการบินซึ่งพบว่ายังมีความล่าช้าอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ทอท. ได้ตระหนักถึงข้อจำกัดทางกฎหมายที่สามารถให้มีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดย ทอท. ได้อนุโลมผ่อนผันเป็นการชั่วคราวถึง 31 มี.ค. 66 ให้สายการบินสามารถให้บริการตัวเอง (Self-handing) ได้ เพื่อลดปัญหาข้อจำกัดในการให้บริการของผู้ประกอบการ 2 รายดังกล่าว และในทางคู่ขนานก็ได้เร่งดำเนินการเพิ่มผู้ประกอบการรายที่ 3 ให้ถูกต้องเป็นไปตาม พรบ.ร่วมทุนฯ อย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอขอความเห็นชอบต่อ ครม. ในเดือน ธ.ค. 65 นี้ต่อไป

ส่วนปัญหการขาดแคลนรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการในสนามบินนั้นยอมรับว่าขาดแคลนจริงจากเดิมก่อนโควิดระบาด มีรถโดยสารสาธารณะที่ลงทะเบียนที่สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ราว 4,500คัน แต่ในปัจจุบันมีรถโดยสารลงทะเบียนเหลืออยู่เพียง 2,000 คัน ส่วนรถโดยสารสาธารณะที่สนามบินดอนเมืองจากเดิมลงทะเบียน 12,000คัน แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง2,600 คัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ ทาง คค. ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ หาทางออกในระยะยาวถึงการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้ผู้โดยสาร เช่น การนำรถโดยสารที่ถูกต้องตามกฎหมายอื่น เช่น London Cab เข้ามาเสริมการให้บริการ เพื่อลดความขาดแคลน และเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนต่อไป

ขณะเดียวกันทาง ทอท. เอง กำลังศึกษาการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ ผู้โดยสาร โดยการพิจารณาการนำ Grab Taxi (ป้ายเหลือง) มาเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ส่วนแนวทางระยะ ปานกลาง-ระยะยาว ทอท.จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้การพัฒนาการให้บริการของ ทอท. ซึ่ง ทอท. ได้พัฒนาโครงการเดิมภายใต้ชื่อ Digital Platform เป็นระบบประมวลผลอัจฉริยะกลางภายใต้โครงการ AOTIA หรือ AOT Intelligent Automata ซึ่งได้เริ่มทยอยเปิดให้บริการแล้วในตารางฤดูกาลบินฤดูหนาวแล้ว ผ่าน Sawasdee by AOT Application โดยจะมีการเพิ่มฟังก์ชั่นการให้บริการต่างๆ อย่างมากภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ต่อไป