ทร.ขยับเดินหน้าศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา

  • หลังคืบหน้าช้าสุดใน5โครงสร้างพื้นฐาน
  • ชี้การบินไทยยังอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับแอร์บัส

พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ (กพอ.ทร.) เปิดเผยว่า กพอ.ทร.ได้เร่งรัดการดำเนินงานโครงการจ้างศึกษา สำรวจ และออกแบบศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ในส่วนของงานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และแผนการดำเนินปรับระดับพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านงานก่อสร้าง ให้เป็นไปตามแผนงานโครงการฯ ที่กำหนดไว้


ทั้งนี้ ในตอนนี้ได้มีการว่าจ้างกิจการค้าร่วมในกลุ่มบริษัท โปรเซส อาร์คิเต็ค แอนด์ แปลนเนอร์ จำกัด บริษัท พรวิเศษ วิศว์ จำกัด และ บริษัท โปรเกรส ดีไซน์ แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เข้ามารับผิดชอบในส่วนของการศึกษา สำรวจ และออกแบบศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO ในบริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ขณะที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีการประมูล โดยได้เชิญ บริษัท Airbus S.A.S ผู้ผลิตอากาศยานขนาดใหญ่มาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเจรจาในข้อตกลงทางด้านธุรกิจร่วมลงทุน


ส่วนของการเตรียมความพร้อมในด้านการก่อสร้างนั้น ได้ดำเนินการในแนวทางคู่ขนาน ซึ่งในขั้นตอนของคอนเซ็ปต์ชัวล์ ดีไซน์ (Conceptual Design) ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ยังเหลือในส่วนที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท Airbus S.A.S ต้องพิจารณาความต้องการ (Requirements) ในเรื่องของการออกแบบเพื่อให้อาคารเป็นรูปแบบอาคารอัจฉริยะ (Smart Building) การคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล


นอกจากนี้ คณะกรรมการ กพอ.ทร. ได้ให้ข้อเสนอแนะ แนวทางการออกแบบและการก่อสร้างให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด อาทิ การปรับระดับพื้นที่โดยการใช้ทรายถม ซึ่งทำให้การบดอัดมีความแน่น (Compaction) ได้เร็วขึ้น โดยทางคณะกรรมการ กพอ.ทร. จะเร่งรัดงานออกแบบรายละเอียด โดยยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่ง รูปแบบในการออกแบบศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO จะได้ส่งให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท Airbus S.A.S ทำการยืนยันความสอดคล้องกับความต้องการ จะต้องเห็นชอบกับรูปแบบในการออกแบบศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ MRO ถือเป็น 1ใน 5โครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)และนับเป็นโครงการที่มีความคืบหน้าช้าที่สุด มีมูลค่าประมาณ 10,588 ล้านบาท ส่วนโครงการที่มีความคืบหน้ามากมี่สุดคือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่า 182,524 ล้านบาทที่ได้เอกชนผู้ลงทุนแล้วคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ที่อยู่ระหว่างการกำหนดวันเซ็นสัญญา และโครงการที่มีความคืบหน้าตามมาคือท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 55,400ล้านบาท ที่เตรียมนำร่างสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะเซ็นสัญญากับเอกสารที่ชนะการประมูล คือ กลถ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีทีแทงค์ นอกจากนั้น อีก 2โครงการคือ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่า 84,360ล้านบาท และ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 290,000ล้านบาท ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนและมีเอกชนไปฟ้องร้องและยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง