ททท.ลุยต่อยอดขาย “นคราธานี“อุดร-หนองคาย-บึงกาฬ” โกยทัวร์สายมู “ไทย+รถไฟความเร็วสูงลาว/จีน/เวียดนาม”

  • งัด 4 สินค้าทำเงิน “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์-อาหาร-ธรรมชาติ-กีฬา”
  • เร่งโกยนักท่องเที่ยวสายมูด้วยแคมเปญเด็ด “กลางคืนก็ปัง กลางวันก็เฮง” 4 เรื่อง 4 สถานที่
  • ปลุกทัวร์ไหว้ 2 พญา “พญานาค-พญายักษ์เวสสุวรรณ” เข้าถ้ำนาคา ชมหินสามวาฬ
  • ควงนักธุรกิจหอการค้ารุ่นใหม่ YEC ไทยบุกเจรจา YEC สปป.ลาว 7 ส.ค.65
  • รุกตลาดเที่ยวรถไฟความเร็วสูงนำเข้าทัวร์ สปป.ลาว จีน เวียดนาม หอบเงินมาใช้ในไทย

นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สร้างจุดขายการท่องเที่ยว“นคราธานี” ในพื้นที่รับผิดชอบการตลาดท่องเที่ยวอีสาน 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคายบึงกาฬ ผสมผสานจุดขายเทรนด์ใหม่ 3 ส่วน คือ 1.พลังซอฟท์ เพาเวอร์วิถีท้องถิ่น 2.การท่องเที่ยว BCG เศรษฐกิจชีภาพหมุนเวียนสีเขียว และ 3.HAPPY MODEL เพิ่มประสบการณ์ความสุขทุกการเดินทาง โดยกระตุ้นรายได้ด้วยไฮไลต์สินค้าท่องเที่ยวหลัก 4 ประเภท ประกอบด้วย

สินค้าประเภทที่ 1 “ศรัทธานำทาง เส้นทางท่องเที่ยว” เจาะตลาดสายมูเตลู นำเสนอขายแคมเปญ “แคมเปญ “มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง” ขณะนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวสายมูดังและปังมากได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 4 เรื่อง 4 สถานที่ ได้แก่ 1.ไหว้ท้าวเวสสุวรรณ ศาลหลักเมืองอุดรธานี 2.สักการะองค์ศรีสุขคเณศ ตรงด้านหน้าวิทยาลัยอาชีวะศึกษาอุดรธานี 3.อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม 4.ศาลเทพารักษ์

โดนใจบรรดาสายมูผู้ชื่นชอบกิจกรรมศักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอีสานตามเส้นทางเชื่อมโยงร้อยเรียงเข้าด้วยกัน 3 จังหวัด ในอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ ตลอดเส้นทางรอบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว ยังเป็นแรงส่งให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ทั้ง ร้านอาหาร คาเฟ่เก๋ ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่นชุมชนต่าง ๆ คึกคักพอสมควร

รวมทั้ง “การเตรียมตัว” ของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามวิถีใหม่หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ต้องปรับตามกฎระเบียบของแต่ละสถานที่ท่องเที่ยวหลัก ๆ ดังนี้

1.การท่องเที่ยวถ้ำนาคา อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.บึงกาฬ ก่อนเดินทางมานักท่องเที่ยวจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบQueQ ให้เรียบร้อยแล้ว เพราะตอนนี้ทางอุทยานแห่งชาติได้ประกาศเป็นกฎข้อบังคับต้องปฏิบัติทุกคน แล้วกำหนดให้เข้าชมได้ไม่เกินวันละ 700 คน

2.ท่องเที่ยวคำชะโนด” อุดรธานี ไหว้พญานาคศรีสุทโธ ขอพรปู่-ย่า และพระใส นักท่องเที่ยวจะต้องแสดงผลตรวจATK หรือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามสาธารณสุขกำหนด แล้วไปรับคิวเพื่อเข้าชมได้ทันที

สินค้าประเภทที่ 2 “Food หรืออาหารถิ่น” ททท.ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร รณรงค์ให้แต่ละชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวริเริ่มโครงการลดขยะท่องเที่ยวเป็นศูนย์ Zero Waste เข้ามาใช้อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวสถานที่แห่งใหม่กำลังได้รับความนิยมมากขณะนี้ใน ”หมู่บ้านคีรีวงกต” อ.นายูง จ.อุดรธานี ได้ออกแบบกิจกรรมนำนักท่องเที่ยว “นั่งรถอีแต็ก” เป็นการเดินทางตามวิถีท้องถิ่น ส่วนบริการอาหารระหว่างชมธรรมชาติ เลือกใช้ภาชนะวัสดุธรรมชาติอย่าง ใบตอง ไม้ไผ่ โดยกิจกรรมอื่น ๆ สามารถลดขยะทุกขั้นตอน เป็นการนำร่องที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยวด้วย ช่วยลดปริมาณขยะจากการท่องเที่ยวได้มากพอสมควร

สำหรับ “อาหารชุมชน” ททท.อุดรธานีได้นำเสนอตามคอนเซ็ปต์ธีมการท่องเที่ยว “กินดี อยู่ดี ออกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดี ๆ” นำร่องในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ชุมชนบางน้ำมอก ชุมชนบ้านเดื่อ/ปลาแม่น้ำโขง ชุมชนคีรีวงกต/เมนูไก่ย่างหอมอร่อยมาก ข้าวสวย แกงต่าง ๆ หลามปลา/ห่อหมก เสิร์ฟด้วยกระบอกไม้ไผ่ และชุมชนโซ่พิสัย/มีดีไซน์ ล้วนแล้วแต่มีอาหารประจำพื้นถิ่น เป็นวัตถุดิบธรรมชาติปลอดสารเคมี เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพนักท่องเที่ยว

ขณะนี้แหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่เก๋ ๆ ทั่วอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เปิดบริการเกือบ 100 % แล้วช่วงเทศกาลท่องเที่ยวฤดูฝนนักท่องเที่ยวคนไทยสายมูจากทั่วประเทศเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับอุดหนุนอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าที่ระลึก สร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่นค่อนข้างคึกคักมาก

สินค้าประเภทที่ 3 ท่องเที่ยวธรรมชาติ บูม “อีสานเขียว เที่ยวหน้าฝน” เลือกพื้นที่ธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งน้ำ เส้นทางไฮไลต์แห่งใหม่ใน “จังหวัดอุดรธานี” คือ “ชุมชนคีรีวงกต” อำเภอนายูง รวมทั้งน้ำตกต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว “จังหวัดบึงกาฬ” ต้องห้ามพลาด 3 แห่ง ได้แก่ “ถ้ำนาคา” อุทยานแห่งชาติภูคา “น้ำตกกินรี” เป็นรูปโลมา 3 ตัว และ“หินสามวาฬ” มหัศจรรย์ธรรมชาติของหินสูงตะหง่านบนยอดเขา ส่วน “จังหวัดหนองคาย” แนะนำไปเติมประสบการณ์แปลกใหม่ที่ “สกายวอล์ค วัดผาตากเสื้อ” สัมผัสความมหัศจรรย์ไอหมอกตอนเช้าหลังหน้าฝนใหม่ ๆสวยงามมาก

ทุกเส้นทางท่องเที่ยวใหม่  ๆ ถือเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสร้างรายได้ กระจายการจ้างงานได้เป็นอย่างดี

สินค้าประเภทที่ 4 การท่องเที่ยวเชิงกีฬาเพื่อสุขภาพ จัดอีเวนต์วิ่งเทรลและกิจกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายใต้การย้ำเน้นถึงเรื่องมาตรฐานป้องกันความปลอดภัยด้านสุขอนามัย แต่ละกิจกรรมต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่

สอดคล้องกับแผนการตลาดท่องเที่ยวปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2566 เริ่มตั้งแต่ตุลาคมนี้เป็นต้นไปททท.อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ ยังคงจะยึดหลักการขายสินค้าท่องเที่ยวภายใต้คอนเซ็ปต์ “BCG+HAPPY MODEL” เจาะกลุ่มตลาดหลักนักท่องเที่ยวคุณภาพ ด้วยการวางกลยุทธ์เตรียมออกแบบแนะนำรายการการท่องเที่ยวเชิงอาหาร กิจกรรมออกกำลังกาย ควบคู่กันไปด้วย

ผอ.ธนภร ย้ำว่า ขณะนี้ ททท.อุดรธานี ได้หารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ และทางกลุ่มหอการค้ากลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC :Young Entrepreneur of Commerce) ในอีสาน วางแผนเดินทางไปเจรจานักธุรกิจรุ่นใหม่กลุ่มYEC ใน สปป.ลาว วันที่ 7 สิงหาคม 2565 นี้ เพื่อเจรจาพูดคุยกับตัวแทนบริษัทผู้ขายท่องเที่ยวฝั่ง สปป.ลาว แล้วทางฝั่งไทยวางแผนจะจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่สร้างแม่เหล็กดึงนักท่องเที่ยว จากตลาด สสป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาเที่ยวให้ได้มากที่สุด โดยใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเมืองเวียงจันทน์ ผ่านหนองคาย กระจายเดินทางท่องเที่ยวในอีสานต่อไป

สินค้าท่องเที่ยวของไทยที่จะนำเสนอบุกเจาะตลาด สปป.ลาว เน้น “เส้นทางสายมู บูชาพญานาค” ตอนนี้นำเสนอเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2 พญา คือ พญานาค/หลวงปู่ศรีสุทโธ กับ พญายักษ์ คือ ท้าวเวสสุวรรณ

อีกทั้งการท่องเที่ยวด้วยรถไฟความเร็วสูงจาก สปป.ลาว เข้าหนองคายปัจจุบัน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอีสานยังคงมีความหวังจากตลาดต่างประเทศ 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สปป.ลาว เวียดนาม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเที่ยวสายมูชื่นชอบเส้นทางสายศรัทธา มาขอพรทางธุรกิจ โชคลาภ ความเป็นสิริมงคล เฮง ๆ รวย ๆ

ซึ่ง ททท.อุดรธานี กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้ง 3 จังหวัด ได้เตรียมความพร้อมไว้ต้อนรับตลาดคนไทยและต่างประเทศที่จะมากับรถไฟความเร็วสูงของ สปป.ลาว เรียบร้อยแล้ว มีทั้ง แพกเกจนำเที่ยว อาหาร แหล่งช้อปปิ้งโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อดูแลสุขภาพ พยายามจัดหมวดสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมความต้องการของนักท่องเที่ยวตลาดคุณภาพพร้อมใช้จ่ายเงินครั้งละจำนวนมากอย่างคุ้มค่า เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีสานและประเทศไทยต่อไป

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen