ททท.นัด 5 ก.พ.ทบทวนแผนการตลาดต่างประเทศปี 2563 ใหม่ หลังเข้าสู่ “new normal’’

  • สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงหลายมิติ
  • จะไม่เห็นท่องเที่ยวไทยเติบโตแบบหวือหวาอีก

นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางและอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า วันที่ 5 ก.พ.นี้นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้เรียกประชุมตลาดต่างประเทศ เพื่อทบทวนแผนการตลาดในปี 2563 ของ ททท.ใหม่ ภายหลังสถานการณ์โลกเปลี่ยนในหลายๆ มิติ ทั้งเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากการดิสรัปของเทคโนโลยี การแข่งขันสูง และอื่นๆ มีผลทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยเข้าสู่ภาวะนิวนอร์มอล (New Normal) หรือความปกติในรูปแบบใหม่ ที่ไม่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดหรือหวือหวาเหมือนในอดีต โดยพื้นที่ตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา จะประชุมผู้อำนวยการสำนักงานกันก่อนวันที่ 19 ม.ค.นี้ ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งต้องทบทวนสิ่งที่ทำมาแล้วและจะต้องทำต่อไป

ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์

“สถานการณ์ตลาดยุโรปในปี 2562 ติดลบนิดหน่อยประมาณ 1% ขณะที่ในปี 2563 จะพยายามให้ทรงตัวเท่ากับปีท่ีผ่านมา ซึ่งต้องปรับตัวด้านวิธีการทำตลาดหลายๆ ส่วน เพื่อรับมือกับปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งเงินบาทแข็งค่าไม่พอ ในบางตลาดอย่างกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เงินโครนสวีเดนอ่อนค่า จากอัตราแลกเปลี่ยนเคยอยู่ที่ 1 โครนฯต่อ 5 บาท อ่อนค่าเหลือประมาณ 3.2 บาทในปัจจุบัน หลังจากก่อนหน้านี้เคยทำสถิติหลุดถึงระดับ 3.05 บาท อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี เมื่อปี 2562 และเศรษฐกิจยุโรปกำลังแย่ลงในหลายๆ เซ็กเตอร์ อย่างอังกฤษที่มุ่งสู่เบร็กซิตหรือถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ต้องจับตาว่าความมั่นใจในการใช้จ่ายของชาวอังกฤษจะกลับมาหรือไม่ หลังจากตลอดปีที่ผ่านมาการเดินทางไปต่างประเทศยังจุดหมายระยะไกล ของชาวอังกฤษติดลบ 2.5% ส่วนไทยยังถือว่าดี ติดลบเพียง 1% เท่านั้น”

นางศรีสุดา กล่าวว่า อีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางอย่างไม่น่าเชื่อ คือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ฤดูร้อนในยุโรปยาวนานขึ้น จากปกติมีแค่ 3 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค. แต่ปัจจุบันเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. นักท่องเที่ยวยุโรปจึงนำเงินไปใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนภายในภูมิภาคมากขึ้น เหลือเงินมาเที่ยวไทยช่วงฤดูหนาวน้อยลง
นอกจากนี้ คู่แข่งตลาดระยะสั้น เช่น ตุรกี กรีซ และอิตาลี ต่างแข่งดึงนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปด้วยราคา ขณะที่มัลดีฟส์และญี่ปุ่น ซึ่งมีภาพลักษณ์สินค้าท่องเที่ยวราคาแพง ยังเล่นราคาเพื่อชิงนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปแข่งกับไทย ทำให้ไทยค่อนข้างเหนื่อยจากการติดอยู่ในภาพลักษณ์เรื่องคุ้มค่าเงิน (Value for Money) แม้จะมีการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวดีขึ้น อยากปรับราคาขายสูงขึ้น แต่ก็ยังทำได้ยาก แถมเงินบาทยังแข็งค่าอีกด้วย ส่วนเวียดนามก็เป็นอีกจุดหมายที่มาแรง สดใหม่ ราคาแพ็คเกจท่องเที่ยวถูกกว่าไทย 20-30% ดึงตลาดรัสเซียไปจำนวนมาก

ส่วนกลยุทธ์ปี 2563 ของ ททท.จึงต้องเร่งเสนอขายสินค้าท่องเที่ยวใหม่ๆ ในเมืองใหม่ๆ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง พบว่ามี 7-8 เมืองรองที่เริ่มติดตลาดในยุโรป เช่น น่าน เชียงราย แพร่ และสตูล รวมถึงการเจาะพื้นที่ศักยภาพเมืองรองในแต่ละประเทศ อย่างล่าสุดบริษัททัวร์รายใหญ่ของรัสเซีย “ปีกัส ทัวริสติก” ได้เพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำลงสนามบินสุราษฎร์ธานี จาก 3 เที่ยวบินเป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ บินตรงจากมอสโควและอีก 3 เมืองรองของรัสเซีย พร้อมขยายเวลาจากเดือน ธ.ค.2562 ถึง ต.ค. 2563 จากเดิมจะสิ้นสุดกำหนดบิน เม.ย.นี้ รวม 90 เที่ยวบิน คิดเป็นเกือบ 40,000 ที่นั่ง นอกจากนี้ เตรียมหาลูกค้าใหม่ไปพร้อมๆ กัน อาทิ ตลาดข้าราชการในรัสเซีย ที่ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา รัสเซียเพิ่งปลดล็อกกฎหมายห้ามข้าราชการทั้งหมดไปต่างประเทศได้

นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ พบว่าได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หลังเกิดเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธใส่เครื่องบินของสายการบินยูเครน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ตกที่อิหร่านจนมีผู้เสียชีวิตยกลำ ทำให้นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในการเดินทางด้วยเครื่องบิน และทำให้หลายๆ สายการบินต้องปรับแผนเส้นทางบิน บินไกลขึ้น ส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้นด้วย จนไม่จูงใจต่อการเดินทาง