ททท.กอดคอสตาร์ทอัพบุกตลาดนอร์ดิก

  • ททท.บุกตลาดนอร์ดิก
  • ยุโรปอากาศดียอดมาไทยลดลง
  • หานวัตกรรมใหม่พาเที่ยวสร้างประสบการณ์

น.ส.สุปราณี ป้องปัด ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เปิดเผยว่า 4 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) การเดินผ่านเครื่องบินของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศ นอร์ดิก ประกอบด้วย สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์และฟินแลนด์ ลดลงประมาณ 30% ซึ่งเป็นการลดลงมากสุดในรอบ 10 ปีซึ่งส่งผลให้การเดินทางมาไทยลดลงไปด้วย เช่น ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย2562 มีนักท่องเที่ยวฟินแลนด์ 67,924คน ติดลบ 15.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นักท่องเที่ยว สวีเดน 145,106คน ติดลบ 10.92% นักท่องเที่ยวนอร์เวย์ 54,539คน เพิ่มขึ้น 1.36% และเดนมาร์ค87,811คน ติดลบ 2.70%

“ในปีนี้อากาศในแถบภาคยุโรปไม่หนาวมากนัก และบางช่วงมีอากาศร้อน ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนอร์ดิกเดินทางท่องเที่ยวภายในยุโรปกันเองโดยรถไฟ ส่งผลให้การเดินทางโดยเครื่องบินทั้งระยะใกล้และระยะไกลลดลง 30% ซึ่งกระทบกับการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และนักท่องเที่ยวกลุ่มนอร์ดิก ยังรู้สึกว่าต้องจ่ายแพงขึ้นเพราะ อัตราแลกเปลี่ยนเงิน เช่น เมื่อก่อน1 โครนาสวีเดนแลกได้ 5บาท แต่ขณะนี้เหลือเพียง 3.29บาท จึงเป็นปัจจัยทำให้ลดการเดินทางมาไทยไปด้วย อย่างไรก็ตามททท.จะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วให้ได้3-5%ด้วยกลยุทธ์การตลาดต่างๆ”

น.ส.เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสตอกโฮล์ม กล่าวว่า เพื่อขยายฐานลูกค้า เพิ่มสินค้าใหม่ๆ และรักษาฐานลูกค้าเดิม ททท.ได้จัดทำโครงการ Bringing the New Shades of Thailand to Nordic Travelers โดยเปิดรับสมัครกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมใหม่ที่สามารถต่อยอดขยายตลาดได้ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสมุมมองใหม่ของประเทศไทย ภายใต้การให้บริการในรูปแบบดิจิทัล แพลตฟอร์มใน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความพึงพอใจให้นักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้วย คาดว่าหากใช้สตาร์ทอัพเข้ามากระตุ้นการใช้จ่ายและอยากเที่ยว จะทำให้ยอดการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปเพิ่มขึ้นเป็น 87,550-89,610 บาทจากปกติมีการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปประมาณ 85,000-87,000 บาท วันพักยาวประมาณ 17 วัน

“กลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นตลาดที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของภูมิภาคยุโรป โดยเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 750,000 คนในแต่ละปี สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 65,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 ในแง่จำนวนคนเดินทางคงไม่เพิ่มจากเดิมนัก แต่มีเป้าหมายสร้างการเติบโตของรายได้ประมาณ 3-5% ทั้งปี หรือประมาณ 66,950 ล้านบาท ซึ่งความพยายามหาตลาดรูปแแบบใหม่ก็เพื่อรักษาเป้าหมายไว้ให้ได้
ขณะนี้ได้เปิดรับสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องทุกสาขาให้เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการโดยไม่จำกัดจำนวน เช่น กลุ่ม Travel Tech กลุ่ม Tourism Lifestyle กลุ่มให้บริการด้านการเดินทาง กลุ่ม Hospitality กลุ่ม Food Services กลุ่ม Wellness Lifestyle กลุ่ม Community Based และ Local Experiences คาดว่าจะได้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวผ่านการคัดเลือกประมาณ 20-30 ราย ททท. จะผู้นำสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ไปประชาสัมพันธ์ในนักท่องเที่ยวทราบ และร่วมกันเจาะตลาด B to C ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้