ถูกจับก่อนใช้กฎหมายใหม่ ! “ศุภชัย” แจงปมดราม่าศาลตัดสิน ลงโทษชาวบ้านปลูกกัญชา 1 ต้น-เข้าใจเจ้าหน้าที่ ประชาชน งงกฎหมายช่วงเปลี่ยนผ่าน ย้ำ 8 มิ.ย.65 คลายล็อกสมบูรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากประเด็นดราม่า ตำรวจจับคุณยายปลูกกัญชา 1 ต้น ล่าสุด พบเรื่องราวกรณีคล้ายกันที่พื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่โลกออนไลน์กลับมาพูดถึงกันมาก โดยศาลจังหวัดขอนแก่น ได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับครอบครองกัญชา 1 ต้นให้จำเลย โทษจำคุก 3 เดือน 15 วัน และปรับ 17,500 บาท ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี

ที่ต่อมาสังคมโซเชียล มีข้อถกเถียงกันว่า ทำไมยังมีการตัดสินลงโทษทั้งที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับ ปีพุทธศักราช 2564 บังคับใช้แล้ว ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ที่ตัดชื่อกัญชาออกไป ได้ประกาศลงในประกาศราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน

ในประเด็นดังกล่าว นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ออกมาชี้แจง ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า
1.ประมวลกฎหมายยาเสพติด ยกเลิก พรบ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ เมื่อ 9 ธันวาคม 2564 โดยเดิมตาม พรบ กัญชา เป็นยาเสพติดประเภท 5 แต่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กัญชาไม่ได้ถูกระบุชื่อไว้

2.จำเลยถูกจับว่ากระทำความผิดเมื่อ 16 พย.2564 ก่อนประมวลกฎหมายมีผลใช้บังคับ และถูกฟ้องว่ากระทำผิดตาม พรบ.ยาเสพติด พศ.2522 โดยจำเลยให้การรับสารภาพ

3.เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พศ.2564 ระบุรายชื่อยาเสพติดประเภท 5 พศ.2565 โดยมี

1.พืชฝิ่น
2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย
3.สารสกัดจากทุกส่วนของกัญชากัญชงที่มีค่า thc เกิน 0.2%

โดยไม่ได้ระบุชื่อพืชกัญชา

4.ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ว่าจำเลยมีความผิดตาม พรบ.ยาเสพติด พศ 2522 โดยคำพิพากษาระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พศ.2564

5.หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อได้

6.ช่วงกฎหมายใหม่มายกเลิกกฎหมายเก่า เป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่ทำให้ประชาชนสับสน คดีควรเป็นบรรทัดฐานโดยคำพิพากษาของศาลสูงสุด

หมายเหตุ :โปรดงดแสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามจากนายศุภชัย เพิ่มเติม และได้คำตอบว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของกฎหมายกัญชา มีเรื่องห้วงเวลาเข้าไปเกี่ยวข้อง ตามเจตนารมณ์กฎหมาย ที่ออกกันมาใหม่ ชัดเจนว่า กัญชา ไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว แต่การบังคับใช้ ยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เพราะต้องรอประกาศ ยส.5 ในราชกิจจานุเบกษาครบ 120 วันก่อน กัญชา ถึงจะปลดล็อกอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันนั้นมาถึง ชาวบ้านทีต้องการปลูกในครัวเรือนให้ไปจดแจ้ง ที่อยากปลูกเป็นอุตสาหกรรม ให้ไปทำตามระเบียบกำหนด แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ ยังมีความสับสนกันเยอะ ที่อยากจะขอคือ ให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณ ด้วยการดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปลูก 1 ต้น 2 ต้น ไว้รักษาตนเอง หากพบเจอ ขอให้ ตักเตือนทำความเข้าใจ อย่าให้ถึงขั้นกระทำการ จนสังคมมองว่า ไปรังแกประชาชนเลยย้ำว่านโยบายกัญชาภูมิใจไทย ผลักดันไปได้ 90% แล้ว เราเอากัญชาออกมาจากความเป็นยาเสพติด เหลืออีกแค่ 4 เดือน หรือ 8 มิถุนายน 2565 ทุกอย่างก็จะสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าพรรคภภูมิใจไทย เราพูดแล้วทำ

คดีที่เป็นข่าวล่าสุด ศาลจังหวัดขอนแก่น อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ

ข้อเท็จจริงรับได้ฟังว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 เวลากลางวัน จำเลยได้ผลิตโดยการเพาะปลูกกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 1 ต้น และจำเลยมีกัญชา จำนวน 1 ต้นดังกล่าว (ต้นพืชประกอบด้วยราก ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ และช่อดอก) น้ำหนักสุทธิ 1,720 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดกัญชาจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง

อนึ่ง ภายหลังจำเลยกระทำความผิด ได้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 4(5) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงบัญญัติให้การผลิตกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26/2 วรรคหนึ่ง ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 93 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ดังนั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายวที่ใช้ในขณะกระทำความผิด กับประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด มีระวางโทษเท่ากัน เป็นกรณีที่โทษตามประมวลกฎหมายเสพติดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคแรก

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงบัญญัติให้การมีกัญชาไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26/3 วรรคหนึ่ง ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมมาตรา 76 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 93 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ดังนั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แตกต่างกับประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด จึงให้ใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา26/2 วรรคหนึ่ง , 26/3 วรรคหนึ่ง , 75 วรรคหนึ่ง , 76 ฐานผลิตกัญชาและฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ให้ลงโทษฐานผลิตกัญชา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 7 เดือนแ ละปรับ 35,000 บาท จำเลยสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน 15 วัน และปรับ 17,500 บาท

ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี ในการคุมประพฤติให้จำเลยไปรายงานต่อหนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 , 30 ริบของกลาง