ถึงเวลา! 13 องค์กรร่วมลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

  • ผนึกพลัง ลดขยะพลาสติกล้นทะลัก
  • โควิด-19 ดันขยะพลาสติกพุ่ง 15 %
  • “จีซี” สนับสนุนครบวงจรทั้งใช้ซ้ำและย่อยสลายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (ทส.)​ ได้ร่วมมือ กับ 13 องค์กร เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ กรมอนามัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล และกลุ่มผู้ประกอบการบริการส่งอาหาร (Platform) ประกอบด้วย บริษัท วงใน มีเดีย , บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) หรือ “Food Panda” ,บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “Grab Food” บริษัทเวล็อคซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “Gojek” และ LalaMove

 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส กล่าวว่า  รัฐบาลได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดย ทส. เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้อง กับ แผนการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ทั้งนี้พบว่า  ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้มีการใช้บริการส่งอาหาร   ที่มาพร้อมขยะพลาสติกในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยพบว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขยะพลาสติกทั่วประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ดั้งนั้น ทส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงร่วมมือลดการใช้ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร และใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทน เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่เห็นพ้องต้องกันในการขับเคลื่อน ภายใต้แนวคิด “Food Delivery วิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” 

ทั้งนี้กลุ่มผู้ให้บริการส่งอาหาร  จะมีการปรับแพลตฟอร์มการสั่งอาหาร ให้มีตัวเลือกในการรับหรือไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของลูกค้า เพื่อลดภาระของร้านและลดการให้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่จำเป็น รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนร้านอาหารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ร่วมโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางของแพลตฟอร์ม , เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับร้านอาหาร ร้านค้า ผู้จัดส่งอาหาร สมาชิกหรือเครือข่าย รับทราบนโยบายและมาตรการการขับเคลื่อนการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในการบริการส่งอาหาร กลุ่มแพลตฟอร์มจะสร้างแรงจูงใจให้ร้านอาหาร ร้านค้า และผู้บริโภคงดใช้กล่องโฟม ถุงพลาสติกหูหิ้ว ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco packaging) ตามความเหมาะสม

  “ที่ผ่านมา ราคาบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ จะแพงกว่า พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งถึง 3 เท่า ซึ่งหากความร่วมมือกันรณรงค์การใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ก็คาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น ราคาก็จะลดต่ำลงในที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของผู้บริโภค เจ้าของร้านอาหารในการเพิ่มการใช้ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม”  

ด้านนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  จีซี กล่าวว่า จีซีในฐานะต้นแบบด้านศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ลงทุนในธุรกิจไบโอพลาสติกตั้งแต่ปี 2554 เพื่อพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ  ช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยพัฒนาและสนับสนุนเม็ดไบโอพลาสติก   , ออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์   ช่วยเรื่องประสานการการผลิตการใช้แบบครบวงจร โดยประสานกับทาง Converters  หรือ ผู้ผลิต เช่น Bio-Eco, ทานตะวัน, ThaiNam และ KMP ในการผลิต ของที่ใช้สำหรับ Food Delivery (บรรจุภัณฑ์เคลือบ PBS, หลอด, ช้อน-ส้อม, ถ้วยไบโอพลาสติก และถุงไบโอพลาสติก) และพัฒนาและรับรองมาตรฐาน GC Compostable Label หรือ ฉลากยืนยันวัตถุดิบ (Material Label) ที่บ่งบอกว่า สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการนั้นๆ ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้ทางชีวภาพของ GC ลูกค้าสามารถใช้ Product Label ของ GC เพื่อความน่าเชื่อถือ และ  อนาคตมีแผนที่จะรับผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ในรูปแบบ Recycle หรือ Compost 

“บริษัทสนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสลายตัวได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการบริการส่งอาหาร โครงการนี้ ถือเป็นการสร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืชเศรษฐกิจ จะช่วยยกระดับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพไทยเกิดการขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อย่างสมบูรณ์”