ถึงเวลา…คมนาคมขอทบทวนแผนสร้างรถไฟฟ้า M-Map 2 ห้าสายทาง

กรมการขนส่งทางรางเตรียมเสนอ คจร.-คมนาคม รีวิวสร้างรถไฟฟ้าระยะที่2 ตามผลศึกษาของไจก้า ที่จะต้องสร้างรถไฟฟ้าระยะที่2อีก 5สายทาง พร้อมดูความเหมาะสมและพร้อมที่สุดที่จะมาเป็นสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา เส้นทางวัชรพล-ท่าพระ,รถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายทิศใต้ช่วงสมุทรปราการ-บางปู หลังสร้างรถไฟฟ้าครอบคลุม กทม.-ปริมณฑลกว่า 14 สายทางแล้วเสร็จเปิดครบในปี70 มั่นใจเดินหน้ารถไฟฟ้าระยะที่2สร้างแล้วเสร็จปี72-75ทำการขนส่งทางรางเพิ่มเป็น30%

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงนโยบายแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคมว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนที่จะขับเคลื่อนการลงทุนระบบรางอย่างเต็มที่  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้ระบบรางในการลดต้นทุนโลจิสติกส์  ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนในอนาคตและให้มีการเดินทางครอบคลุมโดยระบบราง ซึ่งขณะนี้ทางกรมการขนส่งทางราง(ขร.) ได้ไปศึกษารายละเอียดของความจำเป็นที่จะพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุม และขยายเส้นทางเพื่อตอบสนองการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคม ภายใต้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)พบว่าได้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่ว กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมไปกว่า 14 สายทาง ระยะทางรวม 553.41 กม. มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 367 สถานีและจะทยอยเปิดให้บริการจนครบทุกสายถึงปี 70 ดังนั้นทาง ขร.จึงมีแนวคิดที่จะทบทวนแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ตามผลศึกษาของไจก้า แนวคิด M-Map 2 ที่เคยศึกษาไว้ว่าจะต้องมีการก่อสร้างขนส่งสาธารณะระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าในระยะที่ 2 อีก 5 สายทาง ระยะทางรวม 130 กม.ซึ่งตามผลการศึกษามีแผนที่จะเริ่มดำเนินการในปี64-65 แล้วเสร็จในปี 72-73 ประกอบด้วย1 สายแม่น้ำทางรถไฟสายเก่า-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ 2.สายสีเทา วัชรพล-รามอินทรา -ลำลูกกา 3 .ส่วนต่อขยายสีแดง รังสิต-ธัญบุรี 4 .สายใหม่ สถานีขนส่งสายใต้-หลักสี่ และ 5 สายใหม่ บางหว้า-บางกะปิ 

สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.)

นอกจากนั้นจะมีการเสนอขอทบทวนความรับผิดชอบการก่อสร้างว่าใครมีความพร้อม ที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างมากที่สุดจากเดิม กทม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานหรือ รฟม. จะเข้ามาดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา รามอินทรา -ลำลูกกา ,และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ซึ่งทาง ขร.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อลรายละเอียดทั้งหมดก่อนนำเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เห็นชอบก่อนเสนอ คณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก(คจร.)ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบการทบทวนแผน M-Map 2 ต่อไป

ทั้งนี้แผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 นี้ตามผลการศึกษามีเป้าหมายที่จะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมรัศมีจากการให้บริการรถไฟฟ้าเดิมออกไปอีกรัศมี 20 กม. รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางรางตาม M-Mapให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด และการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของเมืองที่ปัจจุบันขยายมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนส่งเสริมการเดินทางโดยระบบขนส่งทางรางอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการคาดหการณ์ว่าจะเพิ่มผู้ใช้ระบบ MRT จาก 6.2 % เป็น 15% เมื่อเทียบกับระบบขนส่งอื่น

นายสรพงศ์  กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการทบทวนแผนพัฒนาโครงการก่อสร้า่งรถไฟฟ้าระยะที่ 2 เนื่องจากปัจจุบัน รถไฟฟ้าหลายสายทางที่ได้มีการโอนความรับผิดชอบให้ กทม. ดำเนินการยังไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับภาระกิจของ รฟม. ที่ดำเนินการในแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 1ก็ตามแผนแล้วเสร็จชัดเจน ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะขอกับมาให้ รฟม.ดำเนินการ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ท่าพระ ซึ่งแนวคิดของขร.หากมาให้ รฟม. ดำเนินการจะดำเนินการช่วง วัชรพล-สถานีรามคำแหง เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออก ของ รฟม.ก่อน เนื่องจากมองว่าสามารถขนถ่ายประชาชนฝั่งตะวันออกเชื่อมต่อทิศเหนือของ กทม.ได้ดี 

อย่างไรก็ตามในส่วนของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทิศใต้ จากเดิม หมอชิต-สมุทรปราการ ซึ่งตามแผนจะต้องต่อขยายจาก สมุทรปราการ-บางปู นั้น ทาง กทม. ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน หาก รฟม. นำมาดำเนินการเองจะทำให้การเชื่อมต่อขนส่งผู้โดยสารจากทิศใต้ กทม. ไปยัง ทิศเหนือ กทม. ชัดเจนขึ้น ประกอบกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า และการขยายตัวของเมือง จุดศูนย์กลางของเมืองชั้นใน ได้ขยายตัวและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากเดิมจะอยู่แถว ปทุมวันรัศมีออกมานอกเมืองไม่เกิน 20-30 กม. แต่ปัจจุบันได้ขยายรัศมีเพิ่มมากขึ้น

“ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้มีการลงทุนในระบบขนส่งทางรางในทุกโครงการไปแล้วกว่า 1.3 ล้านล้านบาท มีผู้โดยสารใช้บริการระบบรางกว่า 6%ของการเดินทางทั้งหมดในทุกระบบที่มีคนเดินทางเฉลี่ย 20ล้านคน/เที่ยว/วัน ซึ่งตามแผนที่มีการศึกษา และคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตหากมีการพัฒนาระบบโครงข่ายระบบรางครบทุกเส้นทางจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเดินทางระบบรางเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30%ในปี 75 ที่มีการพัฒนาครบทุกสายทาง”