ถึงยุคบริการเดินส่งอาหารในกรุงเทพฯ GET มั่นใจตอบโจทย์ลูกค้าได้รวดเร็วและค่าส่งถูกกว่าส่งผ่านมอเตอร์ไซค์

  • ปีหน้าเปิดบริการ GET RUNNER และ GET PAY
  • เปิดแอปพลิเคชั่นใหม่สำหรับมอเตอร์ไซค์และแอปใหม่สำหรับร้านอาหาร

GET (เก็ท) แอพพลิเคชั่นไลฟสไตล์ออนดีมานด์ ที่ให้บริการเรียกมอเตอร์ไซค์วิน สั่งอาหาร ส่งของ และอีวอลเลต เปิดเผยกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2563 ระบุในขณะนี้ยังไม่แผนเปิดตัวบริการ Ride-Hailing บริการขนส่งผู้โดยสารผ่านรถยนต์ ซึ่งต้องรอความชัดเจนทางกฏหมายของประเทศไทยก่อน

นายภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET (เก็ท) เปิดเผยว่า ในปีหน้าทาง GET จะเปิดให้บริการผู้บริโภค 2 บริการ คือ GET RUNNER เป็นบริการเดินหรือปั่นจักรยานเพื่อส่งอาหารให้ผู้บริโภคภายในรัศมี 9 เมตร- 1 ก.ม. และ GET PAY รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงนิยมชำระค่าอาหารผ่านกระเป๋าเงินหรือวอลเลตเพื่อความสะดวกในการชำระค่าอาหารไม่ต้องจ่ายเงินสดให้เสียเวลา

จากการเปิดให้บริการประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนก.พ. 62 ที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จในตลาด จนเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมามียอดการสั่งซื้อครบ 10 ล้านทริป และตั้งเป้าหมายในปีหน้าจะเข้าถึงผู้บริโภคในกรุงเทพครบ 1 ล้านคน 

“สำหรับการเปิดบริการคนเดินส่งอาหาร จากข้อมูลที่เปิดให้บริการมาพบว่ามีตลาดตรงนี้อยู่เราจึงเปิดให้บริการซึ่งจะมีความรวดเร็วกว่าการสั่งผ่านมอเตอร์ไซค์คือเฉลี่ย 19 นาที ขณะที่มอเตอร์ไซต์จะอยู่ที่ 28 นาที อีกทั้งค่าบริการจะถูกกว่า เช่นการสั่งซื้อข้าวมันไก่กล่องละ 40 บาทเมื่อรวมค่าส่ง 10  บาท รวมเป็น 50 บาทนับว่าคุ้ม ขณะที่ผู้ส่งเองจะมีต้นทุนต่ำกว่าการขี่มอเตอร์ไซค์และไม่ต้องเสียเวลาจอดด้วย ซึ่งบริการนี้ในปีหน้าจะเป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก เราจะได้เห็นผู้คนเดินถือกล่องอาหารเดินไปมามากขึ้น ใครสนใจมาร่วมกับ GET ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองบริการในใจกลางกรุงเทพฯได้ผลตอบรับดี”

สำหรับธุรกิจการจัดส่งอาหารหรือ food delivery เป็นธุรกิจที่ทำแล้วขาดทุน โมเดลของธุรกิจเป็นธุรกิจมีกำไรต่ำจะต้องมีคำสั่งซื้อจากผู้บริโภคในระดับสูงมาก การจัดส่งในสเกลใหญ่ๆ ทำให้มีรายได้สูงขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งธุรกิจจะมีกำไรได้ โดยธุรกิจของ GET ในปีแรกซึ่งจะครบในเดือนก.พ.ปีหน้าเริ่มถึงจุดที่จะสร้างกำไรแล้ว

“ในปีแรกธุรกิจเติบโตมากถึง 6 เท่า ขณะที่ภาพรวมธุรกิจนี้มีข้อมูลว่าเติบโตในระเดับ 1.6 เท่าเป้าหมายของ GET ต่อไปอยากให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการได้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแพล็ตฟอร์มเดียวกัน พร้อมกับกลยุทธการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาบริการให้ทั้งคนขับ ร้านอาหารและผู้ใช้บริการ”