ถอดแมสก์=กระตุ้นเศรษฐกิจ??

เมื่อวันที่ 17 มิ..ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) ได้มีประกาศปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการป้องกันควบคุมโรค ให้เป็นพื้นที่สีเขียวทั้ง 77 จังหวัดทั่วราชอาณาจักร 

ขณะเดียวกัน ยังมีมติ “ปลดล็อก” ให้สามารถ “ถอดแมสก์” ในการดำเนินชีวิตได้ หากอยู่ในที่โล่ง ไม่แออัด ก็ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจได้  โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 นี้ 

อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ในกลุ่ม 608 ( 60 ปีขึ้นไป และ/หรือผู้ที่เป็น 8 โรคร้ายแรง) แนะนำให้ใส่แมสก์ตามปกติ และยังคงให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิดหรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก

ยกตัวอย่างจาก คำถามคำตอบของ ศบค. สามารถ “ถอดแมสก์” ได้ในขณะออกกำลังกาย ทานอาหาร ชายหาดชายทะเล สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยวเปิดโล่ง  อย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี และเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ตามมาตรฐาน แต่ในเขตพื้นที่ที่มีคนแออัด และเว้นระยะห่างได้ยาก เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาดสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า คอนเสิร์ต ฯลฯ ยังคงแนะนำให้ใส่แมสก์อยู่เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม คำสั่ง “ถอดแมสก์” ดังกล่าว ถือเป็นโอกาสที่ดีของภาคธุรกิจ และการท่องเที่ยว ที่จะสามารถกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมากได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยเพิ่มการใช้จ่ายและลงทุนเพื่อขับเคลื่อนกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างในขณะนี้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความคึกคักหลังจากการประกาศมาตรการดังกล่าว จะมีมากน้อยแค่ไหน จะคงต้องขึ้นกับความคืบหน้าของกระบวนการที่จะเกิดขึ้น ว่า ในที่สุดแล้ว ศบค.จะดำเนินการอย่างไร เพราะล่าสุด มีข่าวออกมาว่า ศบค.อาจจะยังไม่มีคำสั่งในถอดแมสก์ในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือเมืองใหญ่ หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงความเข้มงวดของคำสั่งดังกล่าวอีกครั้ง

ขณะที่ผลความสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า คนส่วนใหญ่ว่าเห็นด้วยกับการถอดแมสก์ในที่โล่งแจ้ง โดยประมาณ 60% แสดงความเห็นด้วย ขณะที่คนอีก 40% ยังไม่ค่อยเห็นด้วย 

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการถอดหน้ากากในพื้นที่ระบายอากาศไม่ดี หรือแออัด คนส่วนใหญ่ 93%  เห็นว่ายังคงต้องการที่สวมแมสก์ต่อไป มีเพียงประมาณ 7% เท่านั้น ที่เห็นว่าควรถอดแมสก์ โดยมองว่า การใส่แมสก์อย่างเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยพุ่งไม่หยุดเหมือนในหลายประเทศ

นอกจากนั้น แม้ว่าการถอดแมสก์ในทางหนึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว แต่ก็มีเงื่อนไขมากมายที่ยังคงต้องกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนไทยจำนวนมากเริ่มละเลยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ บูสเตอร์ ทำให้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ยังมีจำนวนไม่มาก และยิ่งน้อยลงอีกสำหรับวัคซีนเข็มที่ 4 และ 5

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า คนที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว มีมีแนวโน้มมากกว่า 70% ที่ไม่เห็นความสำคัญของการฉีดกระตุ้นในเข็มที่ 4 หรือเข็มต่อๆ ไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ของโควิด-19 ในประเทศไทยถือว่าเกิดขึ้นได้น้อย !!

และยังส่งผลให้ยังมีความเสี่ยงในระดับหนึ่งทีเดียว ที่จะเกิด “คลัสเตอร์”ใหญ่ๆ ของการระบาดหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการถอดแมสก์ได้ หากไม่ระมัดระวังเพียงพอ 

นอกจากนั้น ทุกๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวกัน หรือแม้แต่สถานที่ทำงาน และบรรดาโรงงานต่างๆ  อาจจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก จากการตรวจ ATK ผู้ร่วมงงาน และพนักงานที่่อาจจะต้องเพิ่มความเข้มงวดขึ้น หลังที่ประชาชนส่วนใหญ่ถอดแมสก์

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหักลบกลบกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ การถอดแมสก์ ในพื้นที่สาธารณะ จะช่วยให้เกิดความมั่นใจในการใช้จ่าย ท่องเที่ยว และลงทุนเพิ่มขึ้น ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น ร่วมกับการยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส  

นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยมองว่า การถอดแมสก์ เป็นเหมือนสัญญาลักษณ์อย่างหนึ่งว่า “ประเทศไทยได้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติแล้ว”

ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า “คุ้มค่า” ที่จะดำเนินการดังกล่าว ภายใต้ความระมัดระวังไม่ให้การ์ดตก ทั้งในเรื่องการเว้นระยะห่างและการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม การถอดแมสก์อย่างเดียว อาจจะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ทันที แต่ยังต้องอาศัยมาตรการด้านต่างๆของรัฐบาลที่จะสนับสนุนทั้ง มาตรการในการกระตุ้นการใช้จ่าย การท่องเที่ยว การรับมือและป้องกันการเกิดหนี้เสียที่อาจะเพิ่มขึ้น 

รวมทั้งมาตรฐาน และศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทยในการป้องกันการระบาดรอบใหม่ และรองรับจำนนผู้ติดโควิด-19 ที่อาจจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการรับมือกับลองโควิดที่จก่อให้เกิดโรค หรือผลข้างเคียงต่างๆ เพิ่มขึ้นในระยะยาว โดยคาดว่า หากเราไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตปากท้องจากราคาน้ำมัน อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้นอย่างรวดเร็ว และดีดให้อัตราเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขึ้น ซ้ำเติมวิกฤตโควิดเดิมรุนแรงเกินไป เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ปกติได้ในช่วงปลายปีนี้