ถอดรหัส “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์”

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกจับตา คือ การเจรจาเลื่อนการชำระดอกเบี้ยหุ้น 2 งวดติดต่อกันของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายสูงสุดเป็นลำดับสองของจีน

“เอเวอร์แกรนด์” ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดที่มีกำหนดชำระเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดวงเงิน 232 ล้านหยวน หรือราว 35.88 ล้านดอลลาร์ สำหรับหุ้นกู้สกุลเงินหยวนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน ก.ย.2568 รวมทั้งผิดนัดชำระดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่งวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์ ราว 2.7 พันล้านบาท สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565

รวมทั้งมีกำหนดชำระดอกเบี้ยวงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์ (1.5 พันล้านบาท) ในวันที่ 29 ก.ย.สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2567
ทั้งนี้ “เอเวอร์แกรนด์” ออกยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยมีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือราว 1 ล้านล้านบาท (ตีมูลค่า ณ สิ้นปี 2563) อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของเอเวอร์แกรนด์ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ ต่อผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท รวมทั้งไม่ได้ยื่นหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม หนี้จำนวนดังกล่าวที่คาดว่าจะชำระไม่ได้ในปีนี้นัั้น ถือเป็นเพียง 1 ใน 10 ของหนี้ที่ “เอเวอร์แกรนด์” โดย “เอเวอร์แกรนด์” ถือเป็นบริษัทเอกชนที่ได้ชื่อว่ามีหนี้มากที่สุดในโลกที่ 1.97 ล้านล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 10 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีน

โดยมีการกู้ยืมสินเชื่อจากธนาคารในประเทศถึง 171 แห่ง และสถาบันทางการเงินอีก 121 แห่ง ไม่นับรวมซัพพลายเออร์, ผู้รับเหมาก่อสร้าง, บริษัทขายวัสดุ และประชาชนที่จ่ายเงินค่าบ้านล่วงหน้าก่อนสร้างเสร็จ รวมทั้งนักลงทุนที่ถือหุ้นกู้ของบริษัท

ไช่น่า เอเวอแกรนด์ ทำธุรกิจหลักใน มณฑลกวางตุ้ง, กวางโจว และเซินเจิ้น มีโครงการอสังหาฯ 1,300 โครงการ ใน 280 เมือง ปัจจุบันมีพนักงาน 123,276 คน รวมทั้งยังลงทุนธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตรถไฟฟ้า, สวนสนุก, ท่องเที่ยว, ธุรกิจประกันภัย, อินเตอร์เน็ต กีฬาและสันทนาการ

โดยล่าสุด ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ นิว เอเนอจี้ วีฮิเคิล กรุ๊ป ซึ่งเป็นธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในเครือของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ยอมรับถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนของบริษัท เว้นแต่ว่าจะสามารถระดมทุนได้ พร้อมประกาศว่าทางบริษัทอาจจะไม่ดำเนินการตามแผนออกหุ้นกู้สกุลเงินหยวน

ทั้งนี้ คำถามที่หลายคนอยากรู้ที่สุด ในขณะนี้น่าจะเป็น คำถามเดียวกันคือ “ทางการจีนจะตัดสินใจอย่างไรกับกรณีนี้ “ไช่น่า เอเวอร์แกรนด์” Too big to fail หรือ ใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้มหรือไม่”

เพราะในขณะนี้เท่าที่มีข้อมูลทางการจีน ยังไม่ตัดสินใจชัดเจน นอกจากการช่วยอัดสภาพคล่องเข้าไปในตลาดตราสารหนี้เพื่อลดความผันผวนจากความตื่นตระหนกของนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการ และนักวิเคราะห์ทั่วโลกมองว่า วิกฤตเอเวอร์แกรนด์ จะกระทบหนักต่อเศรษฐกิจจีนมากที่สุด และมีผลกระทบน้อยลงกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นของโลก ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินโลกน้อยกว่า “วิกฤตซับไพร์ม” ในปี 2551

โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) “กิตา โกปินาธ” มองว่าการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของจีน แต่ยังเชื่อว่าจีนมีเครื่องมือและนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นวิกฤติเชิงระบบ

ขณะที่ “คริสติน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เชื่อว่า การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบโดยตรงกับยุโรปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นเดียวกับ “เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้ครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสหรัฐ แต่ก็อาจจะสร้างความผันผวนต่อภาวะการเงินโลก หากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

ด้าน “หลี่ เต้าคุย” อดีตที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีน (PBOC) มองว่า วิกฤตของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งจะชะลอตัวลง แต่ในส่วนของภาคการเงินจะส่งผลกระทบไม่มาก เพราะ เอเวอร์แกรนด์ไม่มีหนี้สินในรูปของตราสารอนุพันธ์

สำหรับประเทศไทยนั้น “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโสสายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนไทย มีจำกัดมาก เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทย่ำแย่มาสักพักแล้ว และหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับ Investment grade มาหลายปีกองทุนรวมของไทยจึงมีการไปลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ของ Evergrande ในมูลค่าที่น้อยมาก

ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของจีนถูกเทขายรุนแรงไปด้วย กองทุนรวมหลายแห่งของไทยอาจจะได้รับผลกระทบ เพราะจีนเป็นประเทศหลักที่ไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ แต่ความน่าจะเป็นส่วนนี้มีไม่มาก

ทั้งนี้ ดร. ดอน มองว่า มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจีนจะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะเอเวอร์แกรนด์ เป็นบริษัทที่เราเรียกว่า บริษัทที่มีความสำคัญต่อระบบ (Systemically important corporation) หรือพูดง่ายๆ เป็นบริษัทที่ล้มแล้วจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบสถาบันการเงิน ตลาดทุน รวมทั้งที่ผ่านมา รัฐบาลจีนปล่อยปัญหาให้ลุกลามเกินไป

ขณะที่บริษัทที่ลงทุนในหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ ก็เป็นบริษัทจีน โดยบริษัทที่ลงทุนในหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ติดอันดับสูงสุด ประกอบด้วย Fidelity Asian High-Yield Fund ,UBS (Lux) BS Asian High-Yield ,HSBC Global Investment Funds-Asian High-Yield Bond XC,Pimco GIS High-Yield Bond Fund,Blackrock BGF Asian High-Yield Bond Fund ,Allianz Dynamic Asian High-Yield Bond

ซึ่งข้อดีของกรณีนี้ คือ ดร.ดอนมองว่า ด้วยศักยภาพของทางการจีน หากยื่นมือเข้าไปช่วยจะสามารถควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้นไว้ได้ โดยสามารถจำกัดไม่ให้ปัญหาฐานะทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์กระทบระบบการเงินในวงกว้าง

แต่การตัดสินใจจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น กรณีนี้ เป็นความท้าทายที่สำคัญของผู้ดำเนินนโยบายของจีนในระยะต่อไป ที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการเสียวินัยทางเศรษฐกิจ และการดูแลระบบเศรษฐกิจโดยรวม