ถอดรหัสเศรษฐกิจไทย ผ่านรายงานสภาพัฒน์

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ออกรายงานที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ออกมาพร้อมกัน 2 ฉบับ คือ รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 2/2563 และรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2563

ซึ่งทั้งสองรายงานมีข้อมูลอัดแน่น และมีตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยทั้งในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นไตรมาสที่ ทุกฝ่ายมองตรงกันว่าเป็นไตรมาสที่เป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการมองไปข้างหน้า ถึงภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยทั้งปี ในหลากหลายภารส่วน

ซึ่งถ้าจะอ่านกันทั้งหมด คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  คอลัมน์วันนี้ จึงจะลองสรุปประเด็นของรายงานทั้ง 2 ฉบับนี้แบบง่ายๆ สั้น ๆ ใน 7 เรื่องสำคัญๆ  เพื่อให้โฟกัสการมองประเทศไทยไปข้างหน้าแบบไม่ยากเกินไป  เริ่มต้นด้วยกันด้วย ภาพรวมเศรษฐกิจไทย และค่อยไปต่อที่ภาวะสังคม

1.เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 7.5%: รายงานของสภาพัฒน์ ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563 ปรับตัวลดลง 12.2%  ลดลงต่อเนื่องจากการลดลง 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) ทำให้ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวติดลบ 6.9% 

สำหรับทั้งปีนี้ สภาพัฒน์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะปรับตัวติดลบในระหว่าง 7.3-7.8%  หรือคิดเป็นค่ากลางที่ติดลบ 7.5% โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 และ4 จะปรับตัวดีขึ้น หลังการคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา

2.เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำมากกว่า: ในไตรมาสที่ 2 นอกเหนือจากเศรษฐกิจไทยที่หดตัวแล้ว เศรษฐกิจโลกยังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการลดลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจในหลายประเทศและเป็นการลดลงที่มากกว่าไทยในบางประเทศ 

โดยในไตรมาสที่สอง เศรษฐกิจสหรัฐ (Advance Estimate) จะปรับตัวลดลง 9.5 % เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าลดลงมากถึง 32.9 % ซึ่งต่ำสุดในประวัติการณ์ 

ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวลดลงทั่วหน้า โดยติดลบ 15.0 % จากระยะเดียวกันปีก่อน นับเป็นอัตราการลดลงต่ำสุดในประวัติการณ์เช่นกัน โดยประเทศที่ติดลบมากที่สุด คือ ฝรั่งเศสที่ไตรมาสที่ 2 ติดลบ 19% ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ลดลงต้ำสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน เช่น สิงคโปร์ที่ติดลบ 13.2% 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีน กลับมาขยายตัว 3.2%  เทียบกับการลดลง 6.8 %ในไตรมาสก่อน ตหลังจากรัฐบาลเริ่มผํอนปรนมาตรการปิดเศรษฐกิจในช่วงที่่ผ่านมา

3.ปิดเศรษฐกิจทำคนไทยใช้จ่ายลด: เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลง 6.6 % ในไตรมาสที่ 2 เทียบกับการขยายตัว 2.7% ในไตรมาสแรก จากผลของการปิดเศรษฐกิจทั้งหมด ส่งผลให้รายได้ของคนไทยลดลง รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค  และการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 

ทำให้คนเดินห้างน้อยลง หรือไปที่ชุมชนน้อยลง กินข้าวที่บ้านมากขึ้น  โดยการซื้อยานยนต์ ลดลง43.0% ซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าลดลง 21.4 % กินข้าวนอกบ้าน และพักโรงแรง ลดลง4 5.8 %  อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายที่เป็น ค่าน้ำและค่าไฟฟ้าในช่วงนี้ปรับเพิ่มขึ้น 3.8 %

4.ครัวเรือนหนี้สินเพิ่มท่วมหัว:  ในรายงานสภาวะสังคม ไตรมาสที่ 2 ของสภาพัฒน์ ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนของครัวเรือนไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง  โดยตัวเลขที่มีล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ พบว่า หนี้ครัวเรือนไทยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 13.48 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น  3.9 % โดยหนี้ครัวเรือนของไทยคิดเป็นสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 80.1% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 4 ปี และเป็นสัดส่วนที่ถือว่าสูงติดอันดับต้นๆของเอเชีย

ในขณะที่หนี้สาธารณะคงค้าง หรือหนี้ของรัฐบาล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่าทั้งสิ้น 7,433,103.0 ล้านบาท คิดเป็น 44.8% ของจีดีพี

5.คนมีงานทำลด-คนว่างงานพุ่ง: สำหรับการรายงานสถานการณ์แรงงาน สภาพัฒน์ รายงานว่า ในไตรมาสที่ 2 ผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 37.1 ล้านคน ลดลง 1.9 % จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงทั้งผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 0.3%  และนอกภาคเกษตรกรรมลดลงมากกว่าที่ 2.5 %

ในขณะที่มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5  โดยไตรมาสที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 750,000 ล้านคน คิดเป็นอัตรา 1.95 % หรือเพิ่มขึ้น 1  เท่าจากอัตราการว่างงานในช่วงปกติ และเป็นอัตราที่สูงสุดตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2552  หรือสูงสุดในรอบ 10 ปี

6.อนาคตคนตกงาน-ปิดกิจการเพิ่ม : สภาพัฒน์ มองว่า หากเศรษฐกิจอาจหดตัวยาวนาน อาจจะส่งผลให้ธุรกิจของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องสำรองเพียงพอรองรับวิกฤตได้ไม่เกิน 6 เดือนเกิดปัญหา และอาจจะต้องตัดสินใจเลิกจ้างงานและปิดกิจการมากขึ้น โดยพบว่าขณะนี้มีแรงงานจำนวน 1,769,000 คน ซึ่งยังถือว่ามีสถานะผู้มีงานทำในสถานประกอบการอยู่ แต่ไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง เนื่องจากนายจ้างหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวหรือบางส่วน ซึ่งคนจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมีความเสี่ยงตกงานได้ในอนาคต

7.การเจ็บป่วย-การดื่มแอลกอฮอล์-อุบัติเหตุทางท้องถนนลดลง:ในรายงานภาวะสังคม ยังพบว่าในไตรมาสที่ 2 นี้ การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงในทุกโรค โดยเฉพาะ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง 92.2 % มือ เท้า ปาก ลดลง 91.5 %  โรคหัดลดลงร้อยละ 91.2 % อย่างไรก็ตาม ต้องเเฝ้าระวังโ รคไข้เลือดออกที่กลับมาระบาดในบางพื้นที่ รวมทั้งเฝ้าระวังโรคที่มากับฤดูฝน

นอกจากนั้น ยังระบุในรายงานด้วยว่า ในไตรมาสที่ 2 นี้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ของคนไทยลดลง 9.7% และมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง 26.7% และผู้เสียชีวิตลดลง 38.4 % ด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้น่าสนใจและต้องติดตามภาวะการณ์ต่างๆ ในระยะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ยังน่ากังวล ยกเว้นข้อสุดท้ายที่น่าจะเป็นข้อดีในไม่กี่ข้อ จากการะบาดของโรคโควิด-19 และมาตการรักษาระหว่างห่างทางสังคม การปรับพฤติกรรมของคนไทย รวมทั้ง นโยบายการทำงานที่บ้านในช่วงที่ผ่านมา