ต้องกังวลไหม?ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือล้านเดียว

หลังจากเลื่อนมาหลายครั้งหลายหน วันที่ 11 ส.ค.64 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) จะได้ฤกษ์ปรับวงเงินคุ้มครองเงินฝากขั้นต่ำสำหรับบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินสมาชิก จะเดิมคุ้มครองสูงสุด 5 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน ลงมาเหลือ 1 ล้านบาท ต่อสถาบันการเงิน ตามแนวทางที่ได้กำหนดมาก่อนหน้า และสอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยแม้ว่าจะเป็นช่วงที่อยู่ในวิกฤตโควิด-19 แต่สคฝ.มองว่า ฐานะการเงิน และการดำเนินการของสถาบันการเงินของไทยทุกแห่งอยู่ในภาวะที่มีความแข็งแกร่ง ทำให้ไม่มีการเลื่อนการลดวงเงินการคุ้มครองเงินฝากออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ผู้ฝากเงินส่วนหนึ่งยังมีความกังวลใจ โดยระบุว่า ในช่วงนี้ไม่สามารถไปติดต่อทำธุรกรรมย้ายบัญชี หรือเปลี่ยนสถาบันการเงินในการฝากเงินได้ จึงอยากให้เลื่อนการลดวงเงินคุ้มครองดังกล่าวออกไปก่อน

วันนี้เราลองมาหาคำตอบดูว่า การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากกระทบต่อผู้ฝากเงินมากน้อยอย่างไร และหากเรามีเงินฝากส่วนที่เกินกว่า 1 ล้านบาท จะได้รับคืนหรือไม่และอย่างไรกัน

ทั้งนี้ เรามาเริ่มที่การคุ้มครองเงินฝากกันก่อนว่า คือ อะไร คือ การรับประกันว่า ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนเต็มจำนวนที่คุ้มครอง หากสถาบันการเงินสมาชิกถูกเพิกถอนใบอนุญาต

โดยเกณฑ์การคืนเงินนั้น จะคิดเป็น 1 ผู้ฝากต่อ 1 ธนาคาร โดยผู้ฝากเงินจะมีกี่บัญชีเงินฝากก็ได้ใน 1 ธนาคาร เช่น มีเงินฝากอยู่ในธนาคาร A หากมีเงินฝากรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาทจะได้รับคุ้มครองเต็มจำนวนตามเงินฝากที่มีอยู่จริง ส่วนกรณีที่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 1 ล้านบาท ก็ได้รับความคุ้มครอง 1 ล้านบาท ขณะที่เงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ได้รับความคุ้มครอง

แต่หากผู้ฝากรายเดิมที่บัญชีอยู่ในธนาคารอื่นๆ อีก เช่น ธนาคาร B หรือ ธนาคาร C ก็เป็นไปหลักเกณฑ์เดียวกัน คือ ได้รับการคุ้มครองและคืนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทรวมกันทุกบัญชีต่อ 1 ธนาคาร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาท ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองนั้น ไม่ได้หมายความว่าเงินจำนวนนั้นจะสูญไป แต่เงินจำนวนนั้นจะถือเป็น “หนี้สิน” ของธนาคารที่ิปิดกิจการ ผู้ฝากจะได้รับสิทธิ์รับคืนเงินในฐานะ “เจ้าหนี้” แต่ต้องรอการชำระบัญชีเสร็จสิ้นและรอตามลำดับการชำระคืนเจ้าหนี้ตามกฎหมาย

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ได้กล่าวถึงขั้นตอน การคุ้มครองเงินฝาก หากมีธนาคารใดธนาคารหนึ่ง มีฐานอ่อนแอ หรือมีปัญหาจนต้องถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาติว่า สคฝ.จะทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี หลังจากมีการจำหน่ายทรัพย์ หากเกิดกรณีที่สถาบันการเงินภายใต้กำกับดูแลทั้ง 35 แห่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต

โดยเบื้องต้น ผู้ฝากเงินกับธนาคารดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากทันทีโดยไม่ต้องยืนคำร้อง ซึ่งกรณีคือไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยสคฝ.จะโอนเงินคืนอัติโนมัติภายใน 30 วัน เพียงแค่ผู้ฝากเงินมีบัญชีพร้อมเพย์ และในกรณีต่างชาติจะคืนเป็นเช็ค

หลังจากนั้น เงินฝากส่วนที่เหลือ จะได้คืนอย่างไรนั้น จะได้คิจากขั้นตอนของการชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ โดยสคฝ.จะนำเงินที่ได้จากการชำระบัญชีคืนให้กับเจ้าหนี้ตามลำดับ คือ เจ้าหนี้ทางด้านภาษี หรือกรมสรรพากร เจ้าหนี้แรงงาน หรือพนักงานธนาคาร และถัดลงมาเป็นจะเป็นผู้ฝากเงิน จากนั้นจึงจะเป็นเจ้าหนี้ในกรณีอื่นๆ

กรณีดังกล่าวทำให้มีคำถามว่า หากเรามีเงินฝากรวมกันเกิน 1 ล้านบาท เราควรจะแยกฝากธนาคารละ 1 ล้านบาทจนครบจำนวนเงินฝากที่เรามีหรือไม่

คำตอบนี้ ได้มาจากนักธุรกิจรายหนึ่ง ซึ่งมีเงินฝากรวมหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งให้คำตอบว่า “หากจะทำอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่จะมีความยุ่งยากในการดูแลและต้นทุนรักษาบัญชีสูงมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากเงินฝากในอัตราที่เหมาะสม

ทางที่ดีที่สุด ผู้ฝากเงินควรจะศึกษาฐานของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งที่ตัวเองฝากเงินว่า เข้มแข็งหรือไม่ มีโอกาสที่จะล้มมากน้อยแค่ไหน โดยดูเบื้องต้นจากผลกำไรขาดทุนรายปี หากธนาคารมีความเข้มแข็งก็ไม่จำเป็นต้องแยกเงินฝากออกเป็นจำนวนย่อยๆ แต่อาจจะเลือกฝากแบงก์ที่เข้มแข็งสัก 1-2 ธนาคารก็เพียงพอ

“ไม่จำเป็นต้องไปถอนเงินเงินเกินมาเก็บไว้ หรือ แยกฝากจนวุ่นวาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องติดตามฐานะแบงก์ที่เราฝากเงินให้ใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแก้ไขได้ทันเวลา หากพบสถานการณ์ไม่ดี ”

ขณะเดียวกัน หากถามว่า การลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทต่อสถาบันการเงินนี้ กระทบต่อคนไทยจำนวนมากแค่ไหน

จากข้อมูลบัญชีเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด ณ วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา มีบัญชีเงินฝากทุกประเภทรวมกันทั้งสิ้น 109.4 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทั้งสิ้น 107.56 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี 1.84 ล้านบัญชี

แสดงให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่มีเงินฝาก 1 บัญชี ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตาม คนจำนวนหนึ่งอาจจะไม่มีเงินฝากบัญชีเดียว แต่มีหลายบัญชีรวมกันใน 1 ธนาคาร ซึ่งอาจจะรวมแล้วเกิน 1 ล้านบาท โดยช่วงที่ผ่านมาในช่วงก่อนโควิด-19 อัตราเงินฝากเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6% แม้ว่าในปีที่ผ่านมาการเติบโตจะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังคงมีการเติบโตอยู่ที่ระดับ 2%

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุหนึ่งที่อยากฝากไว้ คือ ไม่ใช่ทุกสถาบันการเงินจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากจาก สคฝ.จึงต้องศึกษาให้ชัดเจนว่า ธนาคารที่เราฝากเงินอยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝากหรือไม่ และหากไม่ได้อยู่มีกลไกอย่างไรในการรับประกันการคืนเงินฝากให้กับประชาชน