ตามรอย “สถานีกลางบางซื่อ” ก่อนเปิดให้บริการจริงในปี64

  • แลนด์มาร์กใหม่เมืองกรุงพร้อมแล้วให้บริการปี64
  • ชุมทางสารพัดรถไฟนานานชนิดเชื่อมต่อได้ครบระบบราง
  • รถไฟความเร็วสูง-รถไฟทางไกล-รถไฟแอร์พอร์ตลิ้ง-รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน

กรรมาธิการคมนาคมฯ และอนุกรรมาธิการศึกษาแก้ไขปัญหาการรถไฟฯ สภาผู้แทนราษฎร ลุยตรวจสถานีกลางบางซื่อ เป็นห่วงรถไฟไทยจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใหญ่ต้องสร้างรายได้ชดเชยต้นทุนการเดินรถ และทำระบบเชื่อมต่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก

นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร  พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาการรถไฟแห่งประเทศไทย  ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานีกลางบางซื่อ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันว่า ในส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างในส่วนของสถานีกลางบางซื่อ คืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ  โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตสำคัญ 2 ประเด็น คือ 1 เนื่องจากพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อนั้นเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ใช้สอยหลายแสนตารางเมตร  ในส่วนนี้ขอให้การรถไฟฯ ดูแลการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์  เพื่อให้นำรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์นี้ มาบริหารโครงการให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาการขาดทุนตามมา 

ส่วนที่ 2 ก็ขอให้ดูแลเรื่องของการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้ประโยชน์สูงสุด ตั้งการเชื่อมต่อกลับรถไฟฟ้าเส้นอื่น  รถเมล์โดยสารและรถโดยสารทางไกล ของบขส.จะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงว่าขณะนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อคืบหน้าประมาณ 99.8% โดยปัจจุบันเหลือเพียงการตกแต่งภายในอีกเล็กน้อย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนมีนาคม 2564 และทดสอบเดินรถเสมือนจริง ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 

โดยก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า ในวันที่ 14 ธันวาคม นี้จะมีการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และร่วมทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน จากสถานีบางซื่อไปยังสถานีดอนเมืองด้วย

ทั้งสภาพพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อปัจจุบัน ภาพรวมมีพื้นที่กว่า 2.6 แสนตารางเมตร  ซึ่งประกอบด้วยชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่จอดรถ , ชั้น 1 ซึ่งเป็นจำนวนจุดจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้น 2 ของอาคารจะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่นเดียวกับการจัดพื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานชั้นนำ  และชั้น 3 จะเป็นชานชลา จุดสิ้นสุดของโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  โครงการรถชานเมืองสายสีแดง  และโครงการรถไฟทางไกลอื่นๆ โดยตามแผนของการรถไฟ เมื่อมีการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อแล้ว ก็จะมีการลดการใช้พื้นที่ของสถานีรถไฟกรุงเทพฯหรือหัวลำโพงลง เพื่อลดการเดินทางเข้าออกเมืองชั้นใน  ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองด้วย