ตามติด!กฎหมายคุมค่าทวงหนี้มหาโหด

แก้หนี้

แม้ว่า ประเทศไทยของเราจะมี พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าว เน้นไปที่การดูแลเรื่องการติดตามทวงถามหนี้ต่อลูกหนี้ที่ไม่เหมาะสม การทวงหนี้โดยะเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น การประจานในที่ทำงาน ไปจนถึงใช้ความรุนแรงในการคุกคาม ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายแต่ในส่วนของค่าติดตามทวงถามหนี้นั้น กลับเคยมีความชัดเจนถึง “ค่าติดตามทวงถามหนี้ที่เหมาะสม”

ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ลูกหนี้บางราย ต้องเจอค่าติดตามทวงถามหนี้ชนิดมหาโหด 500 บาทต่อครั้ง บางแห่งสูงถึง 1,000 บาท หรือมากกว่านั้นก็ยังมี ที่สำคัญบางรายผ่อนส่งช้ากว่ากำหนดแค่วันเดียว ก็คือค่าติดตามทวงถามหนี้แล้ว ทั้งการโทรตาม และการส่งจดหมายทวงถาม ส่งผลให้มูลหนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจำนวนมากแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

โดยในช่วงปี 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสูงสุด ไม่ไม่เกิน 200 บาทต่อรอบบัญชี และล่าสุด ในช่วงก่อนโควิด-19 ได้ลดอัตราลงเหลือไม่เกิน 100 บาทต่อรอบบัญชี โดยรวมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ เข้าไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สามารถที่จะดูแลได้เฉพาะ ผู้ให้บริการที่อยู่ภายใต้การกำกับไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ทั้งหมด

โดยในส่วนที่นอกเหนือการกำกับนั้น ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ ได้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการติดตามทวงถามหนี้ในปี 2563 โดยระบุว่า หากลูกหนี้ค้างชำระ 1 เดือน จะคิดค่าธรรมเนียมที่ 80 บาท ที่เหลือค้างชำระ 2-3 เดือนคิดค่าธรรมเนียม 100 บาทเท่ากัน

แต่กรณีดังกล่าว ยังไม่ได้ทำให้ค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถามหนี้ลดลง เพราะยังมีการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นมา ในช่วงเวลาหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว และยังมีค่าติดตามทวงถามกรณีอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมในการติดตามลูกหนี้ ค่าธรรมเนียมในการติดตามรถ หรือรถจักรยายนต์ ค่าธรรมเนียมในการออกภาคสนาม

โดยหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ค่าติดตามทวงถามหนี้มหาโหดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ลูกหนี้”ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะผ่อนส่งหนี้ เพราะบางรายมีหนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายหมื่นบาท นอกเหนือจากมูลหนี้ที่กู้ยืมมา

ทำให้ ในช่วงที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน ได้มีการหารือกันมาต่อเนื่องใน “คณะกรรมการกำกับการทวงหนี้”เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้

เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (1) ประกอบมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีเนื้อหา ดังนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับ แต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้ “ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้” หมายความว่า จำนวนเงินที่ได้กำหนดไว้เป็นค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้จากลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ เพื่อการทวงถามหนี้โดยต้องมีหลักฐานหรือเอกสารเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ให้สามารถตรวจสอบได้ แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการติดตามเอาทรัพย์กลับคืน

“รอบการทวงถามหนี้” หมายความว่า รอบระยะเวลาเพื่อการทวงถามหนี้ โดยนับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้ของงวดนั้นจนถึงวันครบกำหนดชำระหนึ่งงวดถัดไป ทั้งนี้ การนับหนึ่งรอบระยะเวลาดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน

ข้อ 4 เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และมีการทวงถามหนี้ผู้ทวงถามหนี้อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ได้ดังนี้
(1) ไม่เกินห้าสิบบาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระหนึ่งงวด
(2) ไม่เกินหนึ่งร้อยบาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่าหนึ่งงวด
สำหรับหนี้ประเภทให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลิสซิ่งในสินค้าประเภทรถตามกฎหมายว่า ด้วยรถยนต์อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้เพิ่มเติมจากวรรคหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามทวงถามหนี้ ตามที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ไม่เกินสี่ร้อยบาทต่อรอบการทวงถามหนี้และให้เรียกเก็บได้เฉพาะกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่าหนึ่งงวด

ข้อ 5 ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ตามข้อ 4 สำหรับกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระหรือหนี้ที่ถึงกำหนดชำระสะสมที่ไม่เกินหนึ่งพันบาท
และข้อ 6 ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้อีกภายหลังจากได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวน หรือมีการบอกเลิกสัญญาแล้วตามกฎหมาย
ถอดความออกมาแบบง่ายๆ คือ คณะกรรมการติดตามทางถามหนี้ กำหนดค่าติดตามทวงหนี้ใหม่ดังนี้ โดยจะมีผลวันที่ 9 ก.ย.เป็นต้นไป

1.การกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไป รวมจำนำทะเบียน ให้คิดค่าทวงถามหนี้ไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระ 1 งวด และให้คิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด เช่น ในกรณีสินเชื่อทั่วไป ถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ 4 งวด จะเก็บค่าทวงถามในแต่ละงวด คือ 50 บาท ในครั้งแรก และ 100 บาทใน อีก 3 ครั้งถัดไป รวมเป็น 350 บาทเท่านั้น

2.หากมีการดำเนินการทวงถามหนี้ในภาคคสนาม อัตราค่าทวงถามหนี้ภาคสนามจะเก็บเพิ่มเติมสำหรับกรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ สำหรับค่าใช้ลงพื้นที่ติดตามทวงถามหนี้ตามที่เกิดขึ้นจริง ไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ และจะเก็บได้ต่อเมื่อลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด

3.จะสามารถเก็บค่าติดตามทวงถามหนี้ได้ เฉพาะลูกหนี้ที่มีค่างวดสะสมรวมกัน 1,000 บาทขึ้นไปเท่านั้น หากลูกหนี้มีค่างวดสะสมต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ เช่น กรณีค่ารถมอเตอร์ไซค์ 550 บาทต่องวด ถ้าลูกหนี้ค้างชำระค่างวด 1 งวด ยังเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเกิดค้างชำระอีกเป็น 2 งวด ค่างวดค้างชำระสะสมจะเท่ากับ 1,100 บาท กรณีเช่นนี้สามารถเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ในอัตรา 50 บาท

4.การยุติการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ จะยุติเมื่อผู้ให้บริการได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวน หรือ มีหนังสือบอกเลิกสัญญา แล้วแต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน เพื่อแก้ปัญหาการเก็บค่าทวงถามหนี้หลายสิบงวดแบบไม่มีข้อจำกัด

โดย “คณะกรรรการกำกับการทวงหนี้” การออกประกาศค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้กับผู้ให้บริการสินเชื่อทุกแห่งในประเทศไทย และในอนาคตจะช่วยให้ลูกหนี้ลดภาระจาก “ค่าธรรมเนียมการทวงหนี้” ได้จำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมต่อลูกหนี้ และเป็นอีกเงื่อนไขที่จะช่วยให้ลูกหนี้มีแรงที่จะผ่อนส่งหนี้ได้ไปได้จนครบจำนวน