ตอบคำถามเศรษฐกิจแย่แค่ไหน สไตล์บ้านๆ

ถึงจะเล่าให้ฟังกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดชึ้นในขณะนี้กันบ้างแล้ว ในช่วงก่อนหน้า แต่ก็ยังมีคนถามเข้ามามากว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 เข้ามาสู่เดือนที่ 9 โค้งสุดท้ายของปี 63 นี้แล้ว “ป้าอร” คิดว่า “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ” ของไทยไปแล้วในระดับไหน
ความเสียหายจะรุนแรงกว่านี้ได้อีกหรือไม่ และลากยาวนานเท่าไร ให้ดูจาก “เครื่องชี้” ตัวไหนเป็นสำคัญ

โดยส่วนหนึ่ง คาดเดาว่า น่าจะเป็นการถามเข้ามาด้วยความอึดอัดใจ เพราะสถานการณ์มันดูลากยาว อึมครึม เหมือนฟ้าปิดตลอดเวลาหาทางออกไม่ได้ ขณะที่อีกส่วนน่าจะเกิดขึ้นจาก ความวิตกกังวลต่อโอกาสการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีมากขึ้น หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายในประเทศ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประกอบกับ ความไม่แน่นอนในสถานการณ์การเมืองที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในส่วนของการชุมนุมประท้วงในสถานที่ต่างๆ ด้วยประเด็นที่แตกต่างกัน บนจุดร่วมเดีียวกัน หรือ การลาออกแบบฟ้าฝ่าของ อดีต รมว.คลัง ที่มีอายุการทำงาน 21 วัน “ปรีดี ดาวฉาย”


ซึ่งเหตุผลที่คนเชื่อกันมากกว่า ประเด็นปัญหาสุขภาพ คือ “การถูกแทรกแซงการทำงานจากทางการเมือง” โดยการระบุว่า หลายเรื่องที่ รมว.คลัง เห็นว่ายังมีข้อพบพร่อง และต้องการเพิ่มความโปร่งใสให้กับบุคคล หรือโครงการรัฐ ถูกคัดค้าน และ “มัดมือชก” ให้เห็นด้วย

เอาล่ะ! กลับไปที่คำถามที่ถามมา หากตอบแบบเศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอบได้จากการล้วงเข้าไปใน “กระเป๋าสตางค์” ของตัวเองวันนี้ เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ว่า “มากขึ้น หรือลดลง” อย่างไร

ส่วนนี้เป็นคำตอบของ “รายได้”ที่ถูกกระทบว่า รุนแรงถึงขั้นไหน “ตกงาน ลดเงินเดือน ลดโอที ลดวันทำงาน หรือขาดรายได้เสริมที่เคยได้ หลังจากนั้น ในเปิดสมุดบัญชีเงินฝากของคุณดูว่า “มีเงินเก็บ หรือเงินออม”มากหรือน้อยเท่าไร ขณะเดียวกัน ลองคิดบัญชีรายจ่ายแต่ละเดือน รวมทั้งหนี้สินที่ต้องจ่ายทั้งหมด

เมื่อหักลบกับรายได้ที่มี “เหลือหรือขาด”เท่าไร ถ้า “ขาด” เงินเก็บที่มีอยู่ พอช่วยค่าใช้จ่ายไปได้อีกกี่เดือน

ส่วนนี้คือ คำตอบแรกแบบคิดง่ายๆ ของคำถามแรกที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจแย่ หรือซบเซาแค่ไหน

ขณะที่คำถามที่ 2 ความเสียหายจะรุนแรงกว่านี้ได้อีกหรือไม่ และลากยาวนานเท่าไร นั้น จากคำถามแรกที่ให้มองสั้นๆ ในกระเป๋าสตางค์ของเราเองแล้ว ลองมองอกไปไกลๆ ยาวไปอีกหน่อย ถึงกระเป๋าสตางค์ของ “นายจ้าง” หรือ “ลูกค้า” ของคุณว่า สถานการณ์เป็นอย่างไรในช่วง 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้า

ถ้าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ กระทบต่อนายจ้างของคุณไม่มากนัก หรือมีความชัดเจนแน่นอนว่า “นายจ้าง” ของคุณจะไม่ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการเลิกจ้างงาน ไม่ลดเงินเดือนเพิ่ม และไม่ถูกกระทบรุนแรงจนต้องปิดกิจการ ความซึมลึกของความเสียหายของวิกฤตในรอบนี้ที่จะมีต่อตัวคุณน่าจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม นายจ้างของคุณ เริ่มกระท่อนกระแท่น รายได้ลดมากกว่ารายจ่าย หรือ กำลังซื้อของลูกค้าของคุณและนายจ้างคุณลดลงจากเดิมมาก สถานการณ์ความเสียหายย่อมลงลึกและลากยาวเป็นธรรมดา ทั้งตัวคุณ นายจ้าง และเศรษฐกิจโดยรวม

ส่วนนี้เป็นการตอบปัญหาเศรษฐกิจไทยวันนี้ในสไตล์บ้านๆ ว่า เราอยู่กันตรงจุดไหน

แต่ถ้าหากจะให้ตอบแบบมีหลักมีการ ตามความหมายที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ประมวลกัน เป็นอย่างไรบ้างนั้น

เริ่มกับคำถามแรก เศรษฐกิจไทยตกต่ำมากแค่ไหน คงต้องให้คำตอบด้วยเครื่องชี้ เช่น การประมาณการการติดลบของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือพูดง่ายๆ คือ รายได้ของคนทั้งประเทศรวมกัน เทียบทั้งปีนี้กับปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้คาดว่า รายได้ของประเทศจากทุกภาคส่วนจะลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8-9%

พบว่า การลดลงของรายได้รวมของประเทศ ในรอบนี้เป็นการลดลงมากที่สุด ตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติเหมือนหลายสิบปีก่อน หรือเรียกได้ว่า “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และมีผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง มากกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ผ่านมา

ส่วนคำถามที่ 2 และ 3 ความเสียหายจะลึก และนานแค่ไหนนั้น ทุกสำนักโหราพยากรณ์ทางเศรษฐกิจมองตรงกันในวินาทีนี้ว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ซึ่งรายได้รวมของประเทศลดลงประมาณ 12% จากช่วงเดียวกันในเดือนก่อน จากการปิดเศรษฐกิจทั้งหมดเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่มีการระบาดรอบ 2 ไม่มีการปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ย่อมไม่มี “แผ่นดินไหว” ขนาดใหญ่รอบใหม่เกิดขึ้นมา

แต่อย่างไรก็ตาม คงยังเบาใจไม่ได้ เพราะต่อจากนี้ ยังคงต้องเกิดแรงกระแทกกระทั้น แรงสั่นสะเทือน ที่เป็น “อาฟเตอร์ช็อก” จากแผ่นดินไหวครั้งก่อน สร้างความเสียหายซ้ำเติมหลายระลอกตามมา โดยหากถามตามภูมิศาสตร์ว่า แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งหนึ่งจะมี “อาฟเตอร์ช็อก” ตามมาได้อีกกี่ครั้ง จากสถิติพบว่า อาจจะมีสูงสุดได้มากถึงหลายพันครั้งเลยทีเดียว

และในหลายๆ เมืองในอดีตนั้น เคยมีเหตุการณ์ “ตึกขนาดใหญ่ที่มีรากฐานแข็งแรง”จำนวนมาก ที่ถล่มลงมา หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นไปแล้วหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์จากแรงสั่นสะเทือนรองๆ ที่ลามไปแบบโดมิโนเช่นนี้

ดังนั้น ในแง่ความซึมลึกและยาวนานทางเศรษฐกิจนั้น คงต้องพิจารณากันยาวๆ ถึง การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ว่าจะช่วยลดแรงกระแทกจาก “อาฟเตอร์ช็อก” ที่จะทยอยเกิดขึ้นได้มากแค่ไหน ขณะเดียวกัน ต้องทดสอบความทนทานทางการเงิน ซึ่งเปรียบเสมือนรากฐานตึก ของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เป็นห่วงโซ่การผลิตขั้นบนสุดของประเทศว่า จะมีแรงหนืด มีความยืดหยุ่นได้ดีแค่ไหน

และตามที่คาดการณ์กัน วิกฤตโควิด-19 จะถล่มเศรษฐกิจทั่วโลก และเศรษฐกิจไทยไปอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี ตามความเร็วในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ว่าจะประสบผลสำเร็จได้เร็วแค่ไหน รวมทั้ง การลงทุนและการใช้จ่ายของคนทั่วโลกที่อาจจะถูกปรับเปลี่ยนด้วยการดำเนินชีวิตตามวิถีใหม่ ซึ่งจะทำให้โลกธุรกิจ การเงิน และการท่องเที่ยวในระยะต่อไปไม่เหมือนเดิม