ดีแทคจับมือปตท. ชู 5G คลื่น mmWave ลุยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมครั้งแรกในไทย

  • ตอบโจทย์ใช้งานกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ
  • ต่อยอดเพิ่มบริการใหม่สู่พื้นที่ EECi

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมองเส้นทางสู่การพัฒนา 5G ที่ยั่งยืนในประเทศไทยนั้น มีเงื่อนไขแห่งความสำเร็จที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังนั่นคือ การก้าวสู่ 5G โดยคลื่นความถี่ที่ต้องมาปฏิวัติรูปแบบการใช้งาน หรือ use-case พร้อมกับองค์ประกอบที่เกื้อหนุนกัน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (collaboration) เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนา 5G ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย

นอกจากกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G ที่ได้ใช้งานแล้ว ดีแทคยังร่วมทดสอบกับ ปตท.ในส่วนของ 5G FWA หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ พร้อมทั้งยังมีแผนความร่วมมือต่อไปในส่วนของโซลูชั่นอื่นๆ เทคโนโลยีการสื่อสารมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในยุคดิจิทัล ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวอีกด้วย

ทั้งนี้ ดีแทคยังเตรียมแผนที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมและพันธมิตรต่างๆ ให้ทดสอบและใช้งาน 5G คลื่น 26 GHz ใน use case รูปแบบต่างๆ อีกมากมาย อาทิ โซลูชั่นควบคุมไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อธุรกิจ (Smart MDB) ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) เซ็นเซอร์คลังสินค้า (Warehouse Sensors) ระบบแจ้งเตือนผล (Intelligent Report) ระบบติดตามรถยนต์ (Smart Tracking – Vehicle) และ ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เป็นต้น

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อคำนึงถึงคุณสมบัติของเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้งาน จะเห็นได้ว่าคลื่นความถี่ 26 GHz เหมาะสมที่จะพัฒนาการใช้งาน 5G เพื่ออุตสาหกรรมและกลุ่ม B2B ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาด้วยคลื่นที่มีปริมาณความจุเพื่อรองรับการใช้งานและการตอบสนองที่แม่นยำ เพื่อการใช้งานแบบ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) คือการเชื่อมโยงของอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งบริการทางไกลเพื่อสุขภาพต่างๆ การเชื่อมต่อเครื่องจักรและหุ่นยนต์ และรองรับการใช้งานรับ-ส่งข้อมูลปริมาณมากที่มีความเสถียรของโซลูชั่นกล้องตรวจการณ์

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ เป็นโครงการที่ ปตท. มุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนานวัตกรรม ให้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถนำไปสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ตามแนวคิด Powering Thailand’s Transformation เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ดังนั้น ปตท. จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน หลายฝ่าย รวมถึง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค โดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่สำคัญของเทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมต่าง ๆ

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. กล่าวว่า โครงการ 5G x UAV SANDBOX เป็นการเปิดพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้ทดสอบนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูล เพื่อการตอบสนองที่ไวขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้นำศักยภาพของ 5G ไปทดลองใช้เป็น Use cases ต่าง ๆ รวมถึง UAV (Unmanned Aerial Vehicle) และการจัดการการบิน โดย ปตท. และพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในโครงการโครงการ 5G x UAV SANDBOX

สำหรับคลื่น 26 GHz หรือ Millimeter wave (mmWave) 5G มีคุณสมบัติในการให้บริการเหนือกว่า 4G ดังนี้1.ความเร็ว (Speed) – ด้วยกล้อง ultra-HD ที่ใช้งานในโครงการ ปตท. จะต้องการความเร็วอัปโหลดถึง 11 Mbps ซึ่ง 4G อาจจะไม่รองรับได้เพียงพอ ดังนั้น คลื่น mmWave 5G สามารถตอบโจทย์ได้ โดยคลื่นดังกล่าวให้ความเร็วในการทดสอบระดับโลกในการอัปโหลด 40-1000Mbps

2.ความจุช่องสัญญาณ (Capacity) – ในการพัฒนาใช้งานสู่อนาคตที่ต้องการการเชื่อมต่อที่รองรับกล้อง ultra-HD เป็นจำนวนหลายร้อยจุด ทำให้สัญญาณ 4G จะไม่เพียงพอในการตอบสนองได้ แต่สำหรับคลื่น mmWave 5G ให้ความจุของช่องสัญญาณรองรับมากกว่า 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับ 4G จึงทำให้รองรับประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น

3.ความเชื่อมั่น (Reliability) – 5G สามารถนำมาใช้งานอย่างไว้วางใจเมื่อต้องการความปลอดภัยและความต่อเนื่องมากกว่า 4G ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานเช่นวิดีโอที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ภาพสะดุด เช่น 5G สามารถแบ่งการให้บริการแบบเจาะจงด้วย network slicing ดังนั้นการใช้งานในรูปแบบ IoT ของ ปตท. จะสามารถใช้ช่องสัญญาณเพื่อความเสถียรในการใช้งานแยกจากการให้บริการกับลูกค้าทั่วไป