ดีอีเอส เปิด 10 อันดับข่าวปลอม ในรอบสัปดาห์

  • เสียชีวิตบนทางหลวง ได้รับเงินชดเชย
  • ปากกาในสนามเลือกตั้งเขียนแล้วหมึกหายเอง
  • ย้ำให้เช็คก่อนแชร์! อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม

 ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึง ผลการมอร์นิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่  5 – 11 พฤษภาคม 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,214,246 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 222 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 195 ข้อความ ตามมาด้วย การแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 27 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 145 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 76 เรื่อง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนโยบายรัฐบาล รองลงมากลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคมขัดศีลธรรมอันดีและ    ความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 72 เรื่อง อาทิ ครม. อนุมัติถอนเงินชราภาพได้ก่อน 30% กดรับสิทธิ์  ผ่านลิงก์ sso.vip-line.cc , กฟภ ติดต่อประชาชนแจ้ง ขอให้ผู้ใช้ไฟรับคิวอาร์โค้ดติดตั้งมิเตอร์ ,คลิปวิดีโอ   เจ้าหน้าที่กกต. กาบัตรเลือกตั้งกันเอง เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย     จำนวน 49 เรื่อง อาทิ  เมื่ออาหารติดคอ การยกมือขึ้นช่วยให้อาเจียนอาหารออกมาได้

กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 12 เรื่อง อาทิ กรมอุตุฯ เตือน 47 จังหวัดเตรียมรับมือ พายุถล่มทั่วไทย  แรงขึ้น 10 เท่า ฝนแรง ลมกระหน่ำ เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 12 เรื่อง อาทิ ปตท. เปิดโอกาสให้เป็นเจ้าของptt ด้วยเงิน 1,100 บาทรับ   เงินปันผลได้ทุกวัน,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน เปิดให้ลงทุน   เริ่มต้น 1,259 บาท รับเงินปันผล 15-30% เป็นต้น และ ประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับโควิด-19  พบจำนวน 3 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ สำหรับข่าวที่ได้รับความสนใจและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : อุบัติเหตุเสียชีวิตบนทางหลวง ได้รับเงินชดเชยจากกรมทางหลวง 15,000 บาท
อันดับที่ 2 : ลดความมันหนังศีรษะและอาการผมร่วง ด้วยเกลือผสมแชมพู
อันดับที่ 3 : ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ปลอดชำระ 6 งวดแรก ผ่านเพจ Mymoเงินด่วน
อันดับที่ 4 :  ปากกาในสนามเลือกตั้ง ใช้แล้วหมึกจะจางหายเอง
อันดับที่ 5 : นอนหลับไม่เต็มอิ่ม ปัสสาวะบ่อย ทรงตัวไม่อยู่ เพราะทำงานหนักเกินไปจนสมองขาดกำลังจากไต
อันดับที่ 6 :   ออมสินปล่อยกู้ สินเชื่อสวัสดิการสู้ภัยโควิด ผ่านเพจ สินเชื่อ เงินด่วน
อันดับที่ 7 : ใช้เนยแท้ทาเคลือบแผลน้ำร้อนลวก ช่วยแก้ปวด ลดตุ่มพองใส
อันดับที่ 8 : รถโดยสาร – รถบรรทุก ที่มีค่าควันดำเกินกำหนด มีโทษปรับ 2 หมื่นบาท
อันดับที่ 9 : ดื่มน้ำต้มหญ้างวงช้างและอ้อยดำ ช่วยรักษามะเร็งปอด
อันดับที่ 10: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับคนทำงานฝีมือ รายรับ 600 – 1,500 บาทต่อชิ้นงาน

“ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียล/ออนไลน์ เมื่อได้รับข่าวสาร ข้อมูล ควรตรวจสอบให้รู้เท่าทัน รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง www.antifakenewscenter.com/ twitter.com/AFNCThailand และ ไลน์ @antifakenewscenter” ดร.เวทางค์  กล่าว