ดีหรือไม่ดี! ขึ้นดอกเบี้ยกดเงินเฟ้อชะลอ เศรษฐกิจฟื้นช้า

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางใหญ่ๆ ของโลกยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ หรือ (BOE) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกันอย่างจริงจังเพื่อสกัดลดแรงกดดันของเงินเฟ้อในแต่ละประเทศที่ต่างพุ่งสูงใกล้เลขสองหลัก

ขณะที่อีกเรื่องที่ตรงกัน ในหลายๆประเทศแถบตะวันตกในขณะนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงของภาพรวมเศรษฐกิจที่รวดเร็วมากหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ดและแข็งแกร่ง วันนี้ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษต่างพูดถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย

โดยหลังจากตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาส ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เข้าสู่ “ภาวะถดถอยเศรษฐกิจทางเทคนิค”ไปเรียบร้อย ในขณะที่นักลงทุนจับตาการขยายตัวของไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้จริงอย่างที่คาดการณ์กันไว้ได้หรือไม่

ขณะที่อังกฤษหนักกว่า โดยธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว

นอกจากนั้น มหาอำนาจทางเศรษฐกิจฝั่งตะวันออก จีนยังคงใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ โดยล่าสุดจีนสั่งล็อกดาวน์เมืองซานย่า ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลไหหลำ หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ตั้งแต่เดือน กพ.ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และขึ้นไปสูงสุดแตะระดับ 7.66 % ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติของเรา ก็เตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนเกินควบคุมได้เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่นกัน

โดยคาดกันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธปท.จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในการประชุมวันที่ 10 ส.ค.ที่จะถึงนี้ 0.5% ต่อปีทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ 1% ต่อปี

และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะปรับขึ้นทั้งสิ้น 1.5-2.25% ต่อปีในช่วงปีครึ่งจากนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ 2-2.75% ต่อปีภายในสิ้นปี 2566 โดยเป็นการปรับขึ้นในปี 2565 ทั้งสิ้น 0.75% ต่อปีและปรับขึ้นในปี 2566 อีก 1.25-2% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเอกชน และภาคประชาชน ได้ออกมาเรียกร้องให้ธปท.ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะยิ่งซ้ำเติมต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

รวมทั้งกระทบหนี้สินครัวเรือน ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งเมื่อเทียบกับรายได้ของครัวเรือนแต่ละแห่งที่เป็นหนี้ และรายได้ของประเทศ หรือจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ)

ซึ่งในส่วนของธปท.เองก็ยอมรับว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะกระทบต่อภาคธุรกิจ ครัวเรือน และเศรษฐกิจไทย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เศรษฐกิจไทยซึมซับ และรับได้

โดยปัจจัยแรกที่พิจารณา คือ สัดส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ และสัดส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่อรายได้ของภาคครัวเรือน ซึ่งจะบอกได้ว่า ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความล่อแหลมแค่ไหนต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate exposure)

โดยจากข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์และกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ภาระดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็นเพียง 2-4 %ของต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจเท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นต้นทุนวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน

ขณะที่ยอมรับว่าภาคครัวเรือนจะล่อแหลมต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมากกว่า โดยจากฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนของ ธปท. (ไม่รวมหนี้นอกระบบ) พบว่า โดยเฉลี่ยภาระดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็นประมาณ 8% ของรายได้ของครัวเรือนที่มีหนี้ ซึ่งถือว่ากระทบต่อค่าครองชีพครัวเรือนมากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ในช่าวร้ายมีข่าวดี ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค CPI หรือ เงินเฟ้อ เดือน ก.ค.ว่ายังอยู่ในระดับสูงที่ 7.61 % แต่เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ที่เงินเฟ้อสูงสุดถึง 7.66% เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับตัวลดลง และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับการประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีใหม่นั้น กระทรวงพาณิชย์มองว่าปีนี้เงินเฟ้อยังเป็นขาขึ้น โดยเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อปีนี้เป็น 5.5 – 6.5 % ค่ากลางอยู่ที่ 6 %

ขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อได้ แต่เท่ากับลดแรงส่งของการฟื้นตัวเศรษฐกิจลง โดย ธปท.เปรียบการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้เป็นการถอนคันเร่งเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หยุดเดินเครื่อง อย่างไรก็ตาม หลายคนกังวลว่า หากเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยรอบต่ำ อัตราเร่งอัตราเร็วต่ำเกินไป ไม่เหยียบเร่งให้เกิดกำลังเพียงพอ หากท่องเที่ยวมาช้า การใช้จ่ายชะลอแรงเกินไป ส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด

เราจะข้ามหลุมรายได้ยักษ์ที่ลดลงไปมหาศาล ที่ขวางหน้าอยู่ไม่ได้ และลื่นไถลลงไปในหลุมอีกครั้ง

ตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงในเดือน ก.ค.อาจจะช่วยเป็นทางลงให้อัตราดอกเบี้ยของไทย

ธปท.คงต้องพิจารณาความจำเป็นในการถอนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ในช่วงที่เงินเฟ้อเริ่มชะลอลงการคาดการณ์เงินเฟ้อต่ำลงกว่าในช่วงก่อนหน้า เศรษฐกิจออกอาการชะลอตัวกว่าที่คาดว่า ยังมีความจำเป็นมากแค่ไหน เครื่องยนต์ดอกเบี้ยควรลดแรง ลดเร็ว ลดต่อเนื่อง อย่างที่คาดไว้ก่อนหน้าหรือไม่ หรือจะกลับมาทำหน้าที่ประคองเศรษฐกิจและธุรกิจต่อไปไม่ให้ซบเซา