“ดีป้า” เผยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรม ปี 64 ทรงตัว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย คาดปรับตัวดีขึ้น

  • ปัจจุบันยังคงกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 – 2.0
  • ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจช่วงโควิด-19
  • ส่งสัญญาณเชิงบวกในการเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) แถลงผลการศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ภาคอุตสาหกรรม ปี 2564 ว่า 

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ดีป้า เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย รวมถึงการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (Ecosystem) ผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และโครงการ Thailand Digital Valley ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง (Deep Tech) เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สนองตอบนโยบาย ดิจิทัลไทยแลนด์ ของรัฐบาล

“การขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องมีข้อมูลฐาน (Baseline) เพื่อต่อยอดสู่การบูรณาการการทำงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีป้า จึงได้จัดทำการสำรวจข้อมูลสถานภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมไทยในแต่ละกระบวนการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้จัดทำนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด” รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สำหรับผลการศึกษาในขั้นตอนการผลิตชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระจุกตัวอยู่ในระดับ 1.0 – 2.0 ในทุกภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อซัพพลายเออร์ที่ยังคงสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์ อีเมล์ หรือตัวบุคคล กระบวนการผลิตที่ยังใช้เครื่องจักรระบบแมนนวล รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ยังคงเป็นการติดต่อผ่านโทรศัพท์ อีเมล์ หรือตัวบุคคล แม้บางขั้นตอนจะมีแนวโน้มบ่งชี้ถึงการปรับตัวที่ดีขึ้น อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบและผลิต (Computer-Aided Manufacturing) หรือซอฟต์แวร์อื่นที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจด้วยระบบสารสนเทศแบบบูรณาการ หรือการ ใช้ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) แต่กระบวนการดังกล่าวอาจต้องอาศัยระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี ก่อนที่ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถพัฒนาตัวสู่ระดับที่สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ การขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญในการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยยังคงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สะท้อนให้เห็นจากผลสำรวจในครั้งนี้

ดร.กษิติธร กล่าวต่อว่า แม้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 – 2.0 แต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ภายหลังจากที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อีกทั้งส่งสัญญาณเชิงบวกต่อการเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ด้าน นางสาวศุกร์สิริ แจ่มสุข รองผู้แทนองค์การอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวรายงานผลการพัฒนาอุตสาหกรรม ในหัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมหลังวิกฤติโควิด 19” ว่า บริบทปัจจุบันที่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก ตั้งแต่การทำงานไปจนถึงการค้าขายและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ส่งผลให้ระดับ GDP โลกลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนถึง 3.3% และคาดการณ์ว่ามีคนตกงาน 255 ล้านคน คนอีก 97 ล้านคนต้องกลับไปสู่ความยากจน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสูญเสียผลผลิต 3.9% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับประมาณการณ์ก่อนเกิดโรคระบาด

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดภายใต้หัวข้อ “การต่อยอด ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยเป็นอุตสาหกรรม 4.0” โดย นางสาวศุกร์ศิริ พร้อมด้วย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) นายกิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมมาตรฐานเทคโนโลยีการผลิตและผลิตภัณฑ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นางสาวสุชาดา โคตรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ ดีป้า

ทั้งนี้ นับเป็นปีแรกที่ ดีป้า จัดให้มีการศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร และการท่องเที่ยว เพิ่มเติมจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการแถลงผลชุดข้อมูลต่อเนื่องเป็นซีรีส์ เพื่อให้เห็นภาพรวมของภาคการผลิตและภาคบริการหลักของประเทศ โดยลำดับถัดไปจะจัดให้มีการแถลงผลการศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคการเกษตรในเดือนกรกฎาคม และภาคการท่องเที่ยวช่วงเดือนสิงหาคมนี้