ดาวโจนส์แกว่งตัวแคบในแดนบวกกว่า 30 จุด จับตาเงินเฟ้อ

.นักลงทุนช้อนซื้อหุ้น หลังดัชนีร่วงแรง รอดูสถานการณ์เงินเฟ้อที่จะประกาศพุธนี้
.ตลาดยังคงกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงทุบเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
.นักวิเคราะห์ คาดเงินเฟ้อเดือน เม.ย.ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน

เมื่อเวลาประมาณ 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 32,278.95 จุด เพิ่่มขึ้น
33.25 จุด หรือ +0.10% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 11,691.32 จุด เพิ่มขึ้น 68.07 จุด หรือ +0.59% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,006.36 จุด เพิ่มขึ้น 15.12 จุด หรือ +0.38%

มีแรงช้อนซื้อหุ้นกลับเข้ามาบ้าง หลังดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ร่วงแรงต่อเนื่องกว่า 1,000 จุด ในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์เตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอยหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัจจัยลบหลายประการ ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อสูง, ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวจะชะลอตัวลง หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปีก่อนหน้านี้

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 8.1% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี แต่ต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524

สอดคล้องกับการเปิดเผยผลสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ซึ่งระบุว่า ผลสำรวจคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐประจำเดือนเม.ย. พบว่า ภาคครัวเรือนสหรัฐคาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
โดยกลุ่มตัวอย่างจาก 1,300 ครัวเรือน มองว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าลดลง 0.3% สู่ระดับ 6.3% ในเดือนเม.ย. จากการคาดการณ์ว่าราคาอาหารและพลังงานจะชะลอตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าว