ดาวโจนส์เคลื่อนไหวติดลบเล็กน้อยหุ้นสหรัฐผันผวนจับตาเงินเฟ้อ – ขึ้น ดอกเบี้ย

.ตลาดห้นสหรัฐผันผวนเริ่มกังวลถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ
.จับตา“เยลเลน” เผยเฟดอาจจำเป็นต้องทำเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป
.นักลงทุนเทขายหุ้นที่มีกำไร – ช้อนซื้อหุ้นราคาต่ำ

เมื่อเวลา 21.55 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,131.25 จุดลดลงเล็กน้อย
1.78 จุด หรือ -0.01% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,694.72 จุด เพิ่มขึ้น 61.22 จุด หรือ +0.45% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,175.45 จุด เพิ่มขึ้น 10.79 จุด หรือ +0.26%

ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีเครื่องชี้การใช้จ่ายที่ปรับดีขึ้น ทำให้มีแรงเทขายหุ้นที่มีกำไรออกมาบ้าง อย่างไรก็ตามยังมีแรงซื้อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ราคาลดลงมากในช่วงก่อนหน้า

โดยนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าววานนี้ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป อันเป็นผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นางเยลเลนกล่าวชี้แจงในเวลาต่อมาว่า ตนไม่ได้คาดการณ์หรือให้คำแนะนำว่าเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่คำกล่าวก่อนหน้านี้ของนางเยลเลนส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงลงวานนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งนโยบายปรับขึ้นอัตราภาษีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ทางด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 742,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2563 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 800,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ADP ยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนมี.ค.เป็นเพิ่มขึ้น 565,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานเพิ่มขึ้น 517,000 ตำแหน่ง ภาคบริการมีการจ้างงาน 636,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ส่วนภาคการผลิตมีการจ้างงาน 106,000 ตำแหน่ง

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,000,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 5.8%

อย่างไรก็ดี สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 62.7 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 63.7 ในเดือนมี.ค.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 64.3 โดยได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่ แม้ว่าการจ้างงานดีดตัวขึ้น แต่การดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ยังบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ