ดาวโจนส์ร่วงแรง ปิดติดลบ 807จุด นักลงทุนเทขายหุ้น มองเศรษฐกิจฟื้นช้า

.ดัชนีแนสแด็กร่วง598 จุด -เอสแอนด์พี 500 ร่วง125จุด
.นักลงทุนเทขายหุ้นเทคโนโลยี หลังราคาหุ้นพุ่งแรงช่วงที่ผ่านมา
.นักวิเคราห์ระบุ ราคาหุ้นขึ้นเร็วกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้นช้ากว่าที่คาด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลาดวันที่ 3ก.ย.ติดลบอย่างรุนแรง ที่ 28,292.73 จุด ร่วงลง 807.77 จุด หรือ -2.78%, ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,455.06 จุด ร่วงลง 125.78 จุด หรือ -3.51% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 11,458.10 จุด ร่วงลง 598.34 จุด หรือ -4.96%

นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไรเพิ่มมากขึ้น หลังเริ่มมีนักวิเคราห์ตั้งข้อสังเกตมากขึ้นว่า ราคาหุ้นขึ้นสูงกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 โดยในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทำสถิติปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 22ครั้ง ดัชนีแนสแด๋กฯปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 43 ครั้ง และดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 29,000 ได้เป็นครั้งแรกในช่วงต้รสัปดาห์นี้

หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่เป็นเป้าหมายของการเทขาย โดยราคาดิ่งลงแรง โดยเฉพาะหุ้นเฟซบุ๊ก, แอปเปิล, แอมะซอน.คอม, ไมโครซอฟท์ และอัลฟาเบท

ทั้งนีเหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลงหลังปรับตัวขึ้น 10 วันติดต่อกัน และดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง หลังปรับตัวขึ้น 4 วันติดต่อกัน

หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วง 3.8% หลังประกาศว่าจะห้ามการโฆษณาทางการเมืองในสัปดาห์ก่อนหน้าวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.

หุ้นอัลฟาเบท ปิดร่วง 5% หลังรายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอาจดำเนินคดีต่อต้านการผูกขาดตลาดกับทางบริษัทอย่างเร็วที่สุดในเดือนนี้

หุ้นกลุ่มบริษัทซอฟท์แวร์ร่วงลงด้วย โดยหุ้นเซลส์ฟอร์ซ.คอม ปิดร่วง 7.8%

นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสาร, กลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต, กลุ่มพลังงาน และกลุ่มการเงินต่างก็ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนมองว่า เศรษฐกิจอาจฟื้นช้ากว่าที่คาด โเยล่าสุดการเจรจาระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจรอบใหม่ยังไม่มีความคืบหน้า

หุ้นเทสลาถ่วงตลาดลงด้วย หลังราคาหุ้นร่วงลงอีกเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยร่วงลง 9.02%

นักวิเคราะห์รายหนึ่งระบุว่า การร่วงลงของตลาดเป็นเพียงการย้ายฐานการลงทุนออกจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

นักลงทุนจับตาการรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.255 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค.

ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ออกมายังผสมผสานโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 881,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 950,000 ราย หลังจากมีจำนวน 1.011 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 13.254 ล้านราย หลังจากพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะ 24.912 ล้านรายในช่วงต้นเดือนพ.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนก.ค. โดยพุ่งขึ้น 18.9% สู่ระดับ 6.36 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2551หรือในรอบ 12ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า การนำเข้าพุ่งขึ้น 10.9% สู่ระดับ 2.317 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 8.1% สู่ระดับ 1.681 แสนล้านดอลลาร์

ส่วนผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 56.9 ในเดือนส.ค. จากระดับ 58.1 ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 57.0