ดาวโจนส์ร่วงต่ออีกว่า 100 จุดเงินเฟ้อผู้ผลิตสูง-ตลาดแรงงานแกร่ง

.ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ดีดตัวขึ้น 11% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
.นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ว่าเฟดจะปรับขึ้ดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.5%ในการประชุมทั้ง มิ.ย.และ ก.ค.
.มีแรงขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง มองเงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยขึ้นแรงแน่

เมื่อเวลาประมาณ 21.45 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 31,726.19 จุด ลดลง
107.92 จุด หรือ -0.34% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 11,397.03 จุด เพิ่มขึ้น 32.79 จุด หรือ +0.29%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ 3,928.97จุด ลดลง 6.21 จุดหรือ -0.16%

หลังจากที่การประกาศอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น 8.3% ในเดือน เม.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 1.6% ในเดือนมี.ค.

แต่เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ดีดตัวขึ้น 11% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.7% หลังจากพุ่งขึ้น 11.5% ในเดือนมี.ค.

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมี.ค. เทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 6.9% หลังจากดีดตัวขึ้น 7.1% ในเดือนมี.ค.

ยังมีแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ตลาดกังวลอัตราเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในอัตราที่แรงขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯยังแข็งแกร่ง กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 1,000 ราย สู่ระดับ 203,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ นอกจากนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 44,000 ราย สู่ระดับ 1.343 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2513