ดาวโจนส์ร่วงกว่า 138 จุด กังวลเงินเฟ้อพุ่ง-สหรัฐระงับใช้ วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

.สหรัฐระงับการใช้วัคซีจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน พบมีกรณีเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
.นักลงทุนกังวลความคืบหน้าการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19
.ตลาดกังวลอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.พุ่ง 0.6% เร็วกว่าที่คาด

เมื่อเวลา 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ33,606.60 จุด ลดลง 138.80 จุด หรือ -0.41% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,943.00 จุด เพิ่มขึ้น 93.01 จุด หรือ +0.67% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,130.68 จุด เพิ่มขึ้น 2.69 จุด หรือ 0.06%

นักลงทุนกังวลความคืบหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังสหรัฐระงับการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อันเนื่องมาจากกรณีการพบลิ่มเลือดอุดตันที่เป็นอันตรายในผู้ที่ได้รับวัคซีนของบริษัท ส่งผลให้หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ร่วงลง 2.4% หลังเปิดตลาด

โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมกันในวันนี้ ระบุข้อแนะนำให้สหรัฐระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) เป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่ทั้งสองหน่วยงานกำลังตรวจสอบกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่อาจเป็นอันตรายในผู้หญิง 6 คนที่ได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

แถลงการณ์ระบุว่า ช่องทางการกระจายวัคซีนของรัฐบาลกลาง รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีนที่เป็นจุดใหญ่ๆ จะระงับการใช้วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และคาดว่ารัฐต่างๆ ตลอดจนผู้ให้บริการฉีดวัคซีนรายอื่นๆ จะปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มีการฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันแล้ว มากกว่า 6.8 ล้านโดสแล้วในสหรัฐ

คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของ CDC จะประชุมกันในวันพุธนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีการพบผู้ที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับวัคซีนของ J&J ขณะที่ทาง FDA จะเริ่มการตรวจสอบกรณีดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน นักลงทุน กังวลอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือน มี.ค. โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นอัตราที่รวดเร็วขึ้นหลังจากปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันเบนซินที่พุ่งขึ้นถึง 9.1%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI เดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าเดือนก.พ.ที่เพิ่มขึ้น 1.7% และเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงของปี 2561 โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI เดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน และ 2.5% เมื่อเทียบรายปี

หากไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. ซึ่งมากที่สุดในรอบ 7 เดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. ขณะที่เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือนมี.ค.

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่ยของธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวขึ้นแตะระดับ 98.2 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 95.8 ในเดือนก.พ. โดยดัชนีเดือนมี.ค.เป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากการที่หลายรัฐผ่อนคลายหรือยกเลิกข้อจำกัดในการควบคุมโรคระบาด