ดาวโจนส์พุ่งแรงใกล้ 600 จุด เศรษฐกิจฟื้น-อัตราผลตอบแทนพันธบัตรร่วง

  • นักลงทุนคลายกังวลเงินหนีออกจากหุ้น หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มลดลง
  • ตลาดจับตาความคืบหน้าวัคซีนต้านโควิด-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใกล้สำเร็จ
  • นักลงทุนติดตามการประชุมนโยบายการเงินของเฟดวันที่ 16-17 มี.ค.

เมื่อเวลา 22.10 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 31,530.03 จุด พุ่งขึ้นแรง597.66 จุด หรือ  +1.93% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,421.10 จุด เพิ่มขึ้น  228.75 จุด หรือ 1.75% หรือขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี  500 อยู่ที่ระดับ 3,878.47 จุด  เพิ่มขึ้น 67.32 จุด หรือ +1.77%

ดัชนีดาวโจนส์ได้แรงหนุนจากการที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้การรับรองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) หลังจากที่วัคซีนดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ตลาดมีความมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น หลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนที่จะส่งให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามรับรองเป็นกฎหมาย 

โดยนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ คาดว่า กระบวนการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะหมดอายุลง

นอกจากนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลดลง หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ10 ปีพุ่งขึ้นเหนือ 1.6% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง ซึ่งการปรับลดลงดังกล่าวช่วยลดความกังวลของนักลงทุนลง ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายเงินจากตลาดหุ้นไปลงทุนพันธบัตร

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค. หลังจากที่นายเจอโรมพาวเวล ประธานเฟด กล่าวในแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ขณะที่ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีกกว่า 3 ปี

ตลาดยังติดตามการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 มี.ค. โดยมีการคาดการณ์ว่าที่ประชุมจะมีมติผ่อนคลายมาตรการปรับลดกำลังการผลิตหลังเดือน เม.ย. เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันได้ฟื้นตัวขึ้นแล้ว