ดาวโจนส์พุ่งต่อกว่า 100 จุด ทิศทางเศรษฐกิจยังไปได้ แม้การจ้างงานต่ำกว่าคาด

.เลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
.แต่ตลาดมองเห็นข้อดี เพราะจะทำให้เฟดลังเลที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้
.นักลงทุนซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ราคาต่ำลง รวมทั้งเก็งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้น

เมื่อเวลา 22.10 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,687.02 จุด เพิ่มขึ้น 138.49 จุด หรือ +0.40% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่13,813.08 จุด เพิ่มขึ้น 180.24 จุด หรือ +1.32%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,232.27 จุด เพิ่มขึ้น 30.65 จุด หรือ +0.73%

นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังราคาลดลงมากในช่วงก่อน ขณะเดียวกัน ตัวเลขภาคแรงงานที่ออกมาต่ำกว่าคาด ช่วยหนุนการซื้อขายหุ้นกลุ่มดังกล่าว โดยมองว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐยังมีทิศทางฟื้นตัว ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทำให้ยังมีแรงซื้อต่อเนื่องในกลุ่มที่ได้รับผลที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานวันนี้ ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1,000,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.8%

นักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานที่น่าผิดหวังดังกล่าวจะทำให้เฟดยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะชะลอแผนการลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. เฟดมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน อย่างไรก็ดี เฟดเตือนว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเฟดจะใช้เครื่องมือทุกอย่างในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา

นักวิเคราะห์ยังระบุว่า การที่ตัวเลขการจ้างงานต่ำกว่าคาดในเดือนเม.ย. มีสาเหตุจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังจากที่รัฐต่างๆผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 6.4% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นตัวเลขการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดแรงงานพุ่งขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ นับตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงร้านอาหาร

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังมีสาเหตุจากการที่ผู้ปกครองยังคงต้องอยู่บ้านดูแลบุตร และการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการส่งเช็คเงินสดไปให้ผู้ที่ตกงาน ก็ได้ลดแรงจูงใจในการเข้าตลาดแรงงานในระยะนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าการจ้างงานจะกลับสู่ภาวะปกติในเดือนก.ย. ซึ่งมาตรการเยียวยาของรัฐบาลมีกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงเวลาดังกล่าว

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งพุ่งขึ้น 4.5% ในเดือนมี.ค. ขณะที่ยอดขายในภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนมี.ค. หลังจากทรงตัวในเดือนก.พ. โดยเจ้าของธุรกิจจะใช้เวลา 1.22 เดือนในการขายสินค้าจนหมดสต็อก ลดลงจากระดับ 1.26 เดือนในเดือนก.พ.