ดาวโจนส์ปิดลบ 176 จุด เจ้าหน้าที่เฟดดาหน้าย้ำ “ดอกเบี้ยขาขึ้น”

  • นักลงทุนขายหุ้นเทคโนโลยีและหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
  • ตลาดกังวลดอกเบี้ยขึ้นเร็วหลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนหนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี..นี้
  • ด้านเงินเฟ้อผู้ผลิตตัวเลขว่างงานที่ต่ำกว่านักวิเคราะห์ช่วยหนุนตลาดได้ไม่มาก

เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากราคาหุ้นพุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่เจ้าหน้าที่หลายคนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 13 ม.ค. ที่ 36,113.62 จุด ลดลง 176.70 จุด หรือ -0.49%, ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 4,659.03 จุด ลดลง 67.32 จุด หรือ -1.42% และดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 14,806.81 จุดร่วงลง 381.58 จุด หรือ -2.51%

ตลาดหุ้นสหรัฐถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง แม้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิต และตลาดแรงงานยังอ่อนแอกว่าที่คาด เนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ออกมาแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด, นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก

นางเบรนาร์ดได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวานนี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเฟดมีความพร้อมที่จะดำเนินการดังกล่าวทันทีที่โครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ยุติลง ซึ่งการแสดงความเห็นของนางเบรนาร์ดถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.นี้

แบรด แมคมิลแลน นักวิเคราะห์จากบริษัท Commonwealth Financial Network กล่าวว่า “คำพูดของเบรนาร์ดซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรองประธานเฟดนั้น เป็นคำพูดที่มีน้ำหนัก เมื่อเบรนาร์ดพูดว่า ‘เราพร้อมที่จะดำนินการดังกล่าว’ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเฟดจะทำอย่างนั้น”

โดยนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์, เวลส์ ฟาร์โก, เจพีมอร์แกน และดอยซ์แบงก์ ต่างก็คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งขึ้น 9.7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย.2553 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.8% หลังจากดีดตัวขึ้น 9.6% ในเดือนพ.ย.

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 23,000 ราย สู่ระดับ230,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564 และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 200,000 ราย

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ร่วงลง 2.65% ทั้งนี้ หุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ (เฟซบุ๊ก) ร่วงลง2.03% หุ้นเทสลา ดิ่งลง 6.75% หุ้นอินเทล ลดลง 1.44% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 4.23% หุ้นอัลฟาเบท ลดลง2.01%

ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลง 2.08% นำโดยหุ้นบาธ แอนด์ บอดี้ เวิร์คส์ ดิ่งลง 2.23% หุ้นไนกี้ ร่วงลง 1.72%

หุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 2.12% ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาดในไตรมาส 4/2564 ขณะที่ผู้บริหารของเดลต้า แอร์ไลน์ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ผลประกอบการของบริษัทมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่หุ้นโบอิ้ง พุ่งขึ้น 2.97% หลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 Max จะเริ่มกลับมาให้บริการในประเทศจีนอีกครั้งในเดือนนี้

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2564 ของธนาคารรายใหญ่ในวันนี้ ซึ่งได้แก่ เจพีมอร์แกน เชส, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ส่วนในสัปดาห์หน้าจะเป็นการรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยี