ดาวโจนส์ปิดตลาดพุ่ง 433 จุด คลายกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ

.นักลงทุนซื้อหุ้นกลับ หลังตลาดร่วงหนักวันก่อน คลายกังวลเงินเฟ้อ

.รองประธานเฟดยืนยันยังไม่รีบร้อนปรับขึ้นทิศทางนโยบายการเงิน

.ภาคแรงงานแข็งแกร่ง ผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงมากกว่าที่คาด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 13พ.ย.ที่ 34,021.45 จุด เพิ่มขึ้น 433.79 จุด หรือ +1.29% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 4,112.50 จุด เพิ่มขึ้น 49.46 จุด หรือ +1.22% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส  ปิดที่ 13,124.99 จุด เพิ่มขึ้น 93.31 จุด หรือ +0.72

นักวิเคราะห์จากบริษัทลีน็อกซ์ เวลธ์ แอดไวเซอร์สในรัฐนิวยอร์กกล่าวว่า นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นที่ร่วงลงอย่างหนักในวันก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่งในปีนี้ และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็อาจเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น

ตลาดมีแรงซื้อกลับเข้ามาต่อเนื่อง หลังจากนายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ขยายตัวน้อยกว่าคาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนเม.ย. จะไม่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงแนวทางการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยรองประธานเฟดเชื่อว่า การพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น และเฟดจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

“หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เฟดก็ไม่ลังเลที่จะดำเนินการเพื่อทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย.เป็นเพียงข้อมูลด้านหนึ่งเท่านั้น เราเคยพูดเสมอว่าเมื่อใดที่มีการเปิดเศรษฐกิจ เมื่อนั้นดัชนีราคาผู้บริโภคก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย” นายแคลริดากล่าวในการประชุมซึ่งจัดโดยสมาคม National Association of Business Economics

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 34,000 ราย สู่ระดับ 473,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563 และยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 490,000 ราย

ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2553 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.8%

หุ้นสหรัฐถูกซื้อกลับในแทบทุกกลุ่ม ดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมพุ่งขึ้น 1.9% โดยหุ้นเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) พุ่งขึ้น 1.17% หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ดีดขึ้น 1.16% หุ้น 3M พุ่งขึ้น 2.24% หุ้นฮันนีเวลล์ พุ่งขึ้น 2.04%

ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้น 1.87% ขานรับความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยหุ้นเจพีมอร์แกน เชส พุ่งขึ้น 2.57% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา พุ่งขึ้น 1.6% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ เพิ่มขึ้น 1.24% หุ้นซิตี้กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 1.43% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ เพิ่มขึ้น 1.4%

หุ้นโบอิ้ง ดีดตัวขึ้น 0.84% หลังจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ได้อนุญาตให้โบอิ้งดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของเครื่องบินรุ่น 737 MAX ซึ่งจะปูทางให้สายการบินต่างๆสามารถนำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวขึ้นบินอีกครั้งในเร็วๆนี้

หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงกว่า 3% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 1.23% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ร่วงลง 1.85% หุ้นเชฟรอน ดิ่งลง 0.64% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ลดลง 1.15%

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธุรกิจบล็อกเชนร่วงลง นำโดยหุ้น Riot Blockchain ดิ่งลง 16.18% หลังมีรายงานว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐและกรมสรรพากรสหรัฐกำลังเข้าสอบสวนบริษัท Binance Holdings เนื่องจากอาจพัวพันการฟอกเงินและการหลบเลี่ยงภาษี โดย Binance เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลซึ่งจัดตั้งขึ้นที่หมู่เกาะเคย์แมน และมีสำนักงานที่สิงคโปร์

นอกจากนั้น หุ้นเทสลา ดิ่งลง 3.09% หลังจากนายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา อิงค์ ประกาศว่า เทสลาจะไม่รับบิตคอยน์ในการซื้อรถยนต์ของบริษัทอีกต่อไป โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการขุดบิตคอยน์จำเป็นต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก