ดาวโจนส์ปรับตัวลดลงกว่า 150 จุด ผิดหวังผลประกอบการ-จ้างงานภาคเอกชน

  • การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 128,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย.63
  • มีแรงขายหุ้นต่อเนื่อง นักลงทุนกังวลผลประกอบการ หลังไมโครซอฟท์เตือนว่าผลประกอบการอาจต่ำกว่าคาด
  • โอเปกพลัส มีมติเพิ่มกำลังการผลิต 648,000 บาร์เรล/วัน ในเดือน ก.ค.และ ส.ค. สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

เมื่อเวลาประมาณ 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 32,657.81 จุด ลดลง

155.42 จุด หรือ  -0.47% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 12,042.46 จุด เพิ่มขึ้น 48.00 จุด หรือ  +0.40% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,097.16 จุด ลดลง 4.07 จุดหรือ  -0.10%

ผลประกอบการบริษัทที่ออกมาต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดมีแรงเทขาย ขณะที่หุ้นไมโครซอฟท์ดิ่งลงแรง  หลังบริษัทเตือนว่า ผลประกอบการในไตรมาสปัจจุบันอาจต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นักลงทุนยังผิดหวังต่อตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชน หลังจากที่ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 128,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 299,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐชะลอตัวในเดือนพ.ค. ได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี, สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในจีนเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 11,000 ราย สู่ระดับ200,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 210,000 ราย ขณะเดียวกัน จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 34,000 ราย สู่ระดับ 1.31 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2512

ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสได้เสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้แล้ว โดยที่ประชุมมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 648,000 บาร์เรล/วัน ทั้งในเดือนก.ค.และส.ค. สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าโอเปกพลัสจะเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนก.ค.

ก่อนหน้านี้ สหรัฐและหลายชาติที่นำเข้าน้ำมันต่างเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบันหลังจากที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 139 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนมี.ค. ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ