ดาวโจนส์บวกกว่า 330 จุด ดีลซื้อเครดิต สวิส ของยูบีเอสลงตัว

NEW YORK CITY - September 3: Charging Bull sculpture with people on September 3, 2015 in New York City. The sculpture is both a popular tourist destination, as well as "one of the most iconic images of New York".

.ดัชนีหุ้นสหรัฐฯอยู่ในแดนบวก ขานรับมาตรการดูแลสถาบันการเงินสหรัฐณ และยูบีเอสเข้าซื้อเครดิต สวิส

.นักลงทุนเชื่อมั่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันพรุ่งนี้

.มีแรงช้อนซื้อหุ้นกลุ่มที่มีพื้นฐานดี รวมทั้งหุ้นแบงก์ที่ลดลงแรงในช่วงก่อนหน้า

เมื่อเวลาประมาณ 21.59 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 32,193.92 จุด เพิ่มขึ้น
331.94 จุด หรือ +1.04% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 11,651.25 จุด เพิ่มขึ้น 20.74 จุด หรือ +0.18% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ 3,946.46 จุด บวก 29.82 จุด หรือ +0.76%

นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้น หลังจาก ที่ยูบีเอสบรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการเครดิต สวิส ในวงเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส (3.23 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพของระบบธนาคารทั่วโลก

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรเงินกู้ยืมจำนวนสูงถึง 1 แสนล้านฟรังก์ (1.08 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนการซื้อกิจการ ขณะที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกัน 9 พันล้านดอลลาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงให้กับยูบีเอส

นายอาร์ต โฮแกน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท B. Riley Wealth Management กล่าวว่า “ผมคิดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลงมากเกินไป และขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่จะเข้าช้อนซื้อหุ้นในตลาด” นายโฮแกนกล่าว

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากความคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ โดยโกลด์แมน แซคส์ออกรายงานระบุว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ อันเนื่องจากวิกฤตการณ์ในระบบธนาคารขณะนี้

ทั้งนี้ ก่อนการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม หุ้นของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐยังคงลดต่ำลง แม้ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐประกาศอัดฉีดเม็ดเงินรวมกันถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB