ดาวโจนส์ดิ่งลงอีกกว่า 130 จุด นักลงทุนยังตกอยู่ในภาวะหวั่นวิตก

.ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กังวลนโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปทำเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย
.ค่าเงินดอลลาร์ฯแข็งค่า บั่นทอนรายได้การส่งออก กระทบผลประกอบการบริษัทในตลาด
.นักลงทุนเทขายหุ้้นลดความเสี่ยง รอดูสถานการณ์เศรษฐกิจ-ดอกเบี้ย

เมื่อเวลาประมาณ 22.10 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 29,456.48 จุด ลดลง
133.93 จุด หรือ -0.45% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ 3,683.87 จุด ลดลง 9.36 จุดหรือ -0.25% อย่างไรก็ตาม ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 10,914.22 จุด เพิ่มขึ้น 46.29 จุด หรือ +0.43%

นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง กังวลผลกระทบจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ดอลลาร์พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์เทียบปอนด์ และแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปีเทียบยูโร ขณะที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 144 เยน แม้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.3% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2550 และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี ซึ่งส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธ.ค. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามคาด จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะพุ่งแตะระดับ 4.25-4.50% ในช่วงสิ้นปีนี้

นายสตีฟ แฮงค์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ 80% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากเฟดยังคงใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ต่อไป

นายแฮงค์กล่าวว่า เฟดเป็นต้นเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาทะยานขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเต็มใจจ่ายมากขึ้นสำหรับการซื้อสินค้า

ส่วนผลการสำรวจของสำนักข่าว CNBC พบว่า นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า