ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดหนักรอบ21เดือน

  • ประชาชนกังวลเสถียรภาพการเมือง
  • ซ้ำศก.ไทย-โลกชะลอหลังเทรดวอร์ยืดเยื้อ
  • จี้เร่งตั้งรัฐบาลใหม่ลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ม.หอการค้าไทย เผย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.62 ต่ำสุดรอบ 21 เดือน เหตุชาวบ้านไม่มั่นใจการเมือง แนะรัฐเร่งหั่นดอกเบี้ย 0.25% กระตุ้นเศรษฐกิจ  หวังพยุงจีดีพีปีนี้โต 3.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำรวจจากประชาชนตัวอย่างทั่วประเทศ 2,246 คนว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.62 อยู่ระดับ 76.4 ลดจาก 77.7 ในเดือนพ.ค.62 ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 4 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือนนับตั้งแต่ เดือน ต.ค.60 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 51.3 ลดจาก 52.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 87.4 ลดจาก 88.8 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.4 ลดจาก 64.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางาน อยู่ที่ 72.2 ลดจาก 73.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 93.5 ลดจาก 95.0

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนีทุกรายการลดลง มาจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต, กังวลภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า, กำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว, ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น, มูลค่าการส่งออกของไทยลดลง, ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวยังทรงตัวในระดับต่ำ, ความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้งที่อาจกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และรายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 3.5% แม้ว่าหน่วยงานอื่นๆ ได้ปรับลดตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไปแล้ว เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือขยายตัว 3.3% เพราะต้องรอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในการฟื้นความเชื่อมั่นประชาชนก่อน โดยเบื้องต้น ต้องการเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25%

พร้อมกันนี้ ต้องการเร่งรัดให้อัดฉีดเม็ดเงินนับแสนล้านบาทเข้าสู่ระบบ หลังจากที่มีการตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว โดยมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกองทุนหมู่บ้าน เพราะผู้มีรายได้น้อยมักใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว และต้องมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว หลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นต้น