ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.ฟื้นตัวรอบ15เดือน

  • หลังคลายล็อกดาวน์-ธุรกิจทยอยเปิดอีกครั้ง
  • แนะรัฐเร่งอัดฉีดเงิน2แสนล้านบาทไตรมาส3
  • หวังดันเศรษฐกิจไทยเดินหน้าตั้งแต่ไตรมาส4

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำรวจจากประชาชนตัวอย่าง 2,248 รายทั่วประเทศว่า ดัชนีเดือนพ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 48.2 เพิ่มขึ้นจาก 47.2 ในเดือนเม.ย.63 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 32.2 เพิ่มจาก 31.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 55.7 เพิ่มจาก 54.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 40.2 เพิ่มขึ้น 39.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 46.6 เพิ่มจาก 46.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 57.7 ลดจาก 56.4

สาเหตุที่ดัชนีทุกรายการปรับเพิ่มขึ้น เป็นเพราะรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ เปิดธุรกิจในระยะที่ 1 และ 2 รวมถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบ ทั้งด้านการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เหลือ 0.50% ต่อปี และการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดี ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคต ที่เกิดจากผลกระทบดังกล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยปี 63 คาดว่า จะติดลบ 5% ถึงลบ 3.5% โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ที่คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังติดลบประมาณ 10% ซึ่งน่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว ดังนั้น ในช่วงไตรมาสที่ 3 ต้องการให้รัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้อย่างน้อย 200,000 ล้านบาท โดยเน้นส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ เพราะจะทำให้เงินเข้าไปหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานรากได้รวดเร็ว รวมถึงให้รัฐบาลช่วยผลักดันการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟทต์โลน) 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วย เพราะเอสเอ็มอีจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลได้

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ เนื่องจากจะเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวน่าจะกลับมาคึกคักมากขึ้น แต่ต้องไม่เกิดเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิดรอบ 2 และปัญหาทางการเมืองไม่รุนแรง แต่หากตรงกันข้ามกัน ก็คงต้องรอประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้งว่าตัวเลขจีดีพีในปีนี้เป็นอย่างไร”