ดัชนีอุตสาหกรรม พุ่งสูงสุดในรอบ 5 เดือน อยู่ที่ระดับ 82.1

  • อานิสงส์มาตรการคลายล็อก
  • เปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจฟื้น
  • จี้รัฐแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน 5 แสนคน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2564 ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 82.1 ปรับขึ้นจาก ก.ย.ซึ่งอยู่ที่ระดับ 79.0 โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 5 เดือนนับจาก มิ.ย.64 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 95.0 ปรับขึ้นจาก ก.ย.64 ที่อยู่ระดับ 93.0 เป็นค่าดัชนีเชื่อมั่นสูงในรอบ 19 เดือนนับตั้งแต่ เม.ย.63

ทั้งนี้เนื่องจากการคลายล็อกดาวน์ ต่อเนื่องด้วยการเปิดประเทศ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว (ตามเงื่อนไข) จะกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลช่วงปีใหม่ที่เพิ่มขึ้นและการส่งออกที่ยังคงเติบโต ทำให้ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยภาคการส่งออกยังคงขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก  

นายสุพันธุ์ กล่าวว่ สำหรับกรณีที่ภาคเอกชนกังวลปัญหาแรงงานต่างด้าว ที่ลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากไทยเปิดประเทศ ทำให้ขาดแคลนแรงงานต่างด้าวถึง 5 แสนคน หลังจากมีส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนาไปแล้วกลับไม่ทัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอาหาร จึงเห็นว่ารัฐควรทำเอ็มโอยูรัฐต่อรัฐในการนำเข้าแรงงานให้ชัดเจน และขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการตรวจโรคอย่างถูกหลักของระบบสาธารณสุขด้วย โดยต้องเร่งรัดในการปฏิบัติ เพราะเข้าใจว่าระบบราชการล่าช้าอาจเป็นช่องว่างให้การเข้ามาแบบผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น และหากปล่อยให้มีการลักลอบเข้ามาอาจทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ได้

“ข้อกังวลของผู้ประกอบการคือราคาวัตถุดิบที่หลายตัวได้ปรับขึ้นแล้ว และราคาพลังงานที่สูงขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งกระทบทั้งต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ปัจจัยนี้จะเป็นแรงกดดันต่อราคาสินค้าที่เป็นกลางน้ำและปลายน้ำมีโอกาสปรับขึ้นค่อนข้างสูง เช่นปิโตรเคมี แม้ว่ารัฐขอให้ตรึงราคาก็คงทำได้เพียงระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ง่ายนักต้องดูถึงต้นทุน ความต้องการและการผลิตประกอบด้วย”

สำหรับการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.65 ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามค่าเชื้อเพลิงนั้น ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง เพราะหากค่าไฟฟ้าปรับขึ้นทุกคนต้องเดือดร้อนแน่นอน เราทุกคนจึงยังไม่พร้อมที่จะรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น และอยากขอให้รัฐบาลดูแลแบ่งเบาภาระค่าไฟต่อไปอีกสัก 1 ปี เพื่อชดเชยความเสียหายจากผลกระทบของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อเสนอแนะต่อภาครัฐมี 4 ข้อ คือ 1.เร่งรัดการฉีดวัดซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนตามเกณฑ์ขั้นต่ำ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเฉพาะจังหวัดที่เปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.ภาครัฐควรมีแผนรองรับการเปิดประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจน เพื่อให้การเปิดประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนรับทราบเพื่อสร้างความเข้าใจ

3.เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเดิม และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ 4.ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการภาคอุตสาหกรรม.