ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย. ขยายตัว 3.25%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม
  • เทียบกับเดือนส.ค.เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตดีดตัวตามไปด้วย
  • สัญญานชี้ภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรมว.อุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ)เดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค.ที่ 3.25% เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ก็ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนส.ค.ที่ผ่านมาโดย อยู่ที่ระดับ 63.07 จากเดิมที่ระดับ 60.86 ส่งผลให้เอ็มพีไอ เมื่อไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 91.22 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่ 13.73% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรม ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้กับระดับในช่วงที่เกิดการระบาดของ โควิด-19 โดยเฉพาะการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร หลายๆ,อุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ “ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรม กลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 ในขณะที่ต่างประเทศยังคงน่ากังวลอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่2 โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับ การออกวีซ่าพิเศษให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเป็นการดึงให้นักลงทุนสามารถเข้ามายังประเทศไทยได้ นับเป็นโอกาสที่ประเทศไทยมีจุดเด่นทั้งทางด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษดึงดูดให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั่วโลก

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักๆ ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2.4% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.5 % ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ได้เริ่มฟื้นกลับมาโดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง อาทิ เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.20% เนื่องจากปีที่ผ่านมา ได้มีการหยุดผลิตเพื่อย้ายโรงงาน ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34.07% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็น มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับได้มีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีนตั้งแต่เดือนมิ.ย.  2563 ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกเพิ่มขึ้น ไปยังประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่นอุตสาหกรรม แปรรูปและถนอมผลไม้และผัก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.03 %จากผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และข้าวโพดหวานเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีการปลูกสับปะรดในหลายพื้นที่ทำให้ยังมีผลผลิตในการเก็บเกี่ยวนอกฤดูกาล รวมถึงการขยายพื้นที่เพาะปลูกของข้าวโพดของเกษตรกร

เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.13%จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้และที่นอน เนื่องจากผู้ผลิตได้เร่งผลิตให้ทันส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการกักตัวอยู่บ้าน ในขณะที่สินค้าที่นอนได้มีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์เป็นต้น