ดัชนีดาวโจนส์ร่วงต่อกว่า 170 จุด กังเวลเงินเฟ้อทุบเศรษฐกิจซบ

.โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐเหลือ 2.4% ในปี 2565 จาก 2.6%
.นักลงทุนจับตาข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนเม.ย.วันพรุ่งนี้ รวมทั้งผลประกอบการบริษัทค้าปลีก
.เฟด นิวยอร์ก เผยดัชนีภาคการผลิต ร่วงลงสู่ระดับติดลบในเดือนพ.ค.

เมื่อเวลาประมาณ 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 32 ,018.72 จุด ลดลง 177.94 จุด หรือ -0.55%ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 11,663.10จุด ลดลง 141.90 จุด หรือ -1.20%ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,009.51จุด ลดลง14.38 จุด หรือ-0.36%


ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังยืนไม่อยู่ หลังจากดัชนีไหลลงต่อเนื่อง 7 วันทำการ โดยตลาดยังคงกังวลอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่คาด ซึ่งเป็นผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะต่อไป


นักลงทุนจับตาข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. ที่จะมีการเปิดเผยในวันอังคารนี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าภาคค้าปลีกของสหรัฐรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังรอดูการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงวอลมาร์ท, ทาร์เก็ต และโฮมดีโปท์


ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งนำโดยนายแจน แฮทซีอุส ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยคาดว่าตลาดการเงินของสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงิน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดขนาดงบดุล (QT)


โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.4% ในปี 2565 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.6% และคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.2% โดยนอกเหนือจากการที่เฟดใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ รวมทั้งผลกระทบจากการที่รัสเซียใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน


สำหรับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งตลาดเป็นกังวลนั้น ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า


ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ร่วงลงสู่ระดับติดลบในเดือนพ.ค. หลังจากที่ดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนเม.ย. โดยดัชนีภาคการผลิตร่วงลงแตะ -11.6 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 24.6 ในเดือนเม.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 16.5 อย่างมาก