ดัชนีดาวโจนส์ยังไม่ถอย เปิดบวกเป็นวันที่ 7 ท่ามกลางปัจจัยบวก-ลบผันผวน

  • นักลงทุนยังมีกำลังใจสู้ต่อ แม้แรงซื้อหุ้นเริ่มแผ่วลง
  • อีซีีบีผ่อนคลายนโยบายการเงิน-ข่าวดีเจรจาการค้าหนุน
  • ด้านดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปออกมาต่ำกว่าที่คาด

ดัชนีดาวโจนส์เปิดตลาดปรับเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 7 แต่เป็นการปรับขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางปัจจัยที่มีทั้งลบและบวก โดยเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวอยูที่ 27,167.45 จุด เพิ่มขึ้น 30.41 จุด +0.11% ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวอยู่ที่ 8,197.13 จุด เพิ่มขึ้น 27.45 จุด หรือ +0.34% ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวเหนือ 3,000 จุด เคลื่อนไหวอยู่ที่ 3,003.67จุด +2.74 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.09%

นักลงทุนตอบรับผลการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรป หรือ อีซีบี ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับอีซีบี สู่ระดับ -0.50% จากเดิมที่ระดับ -0.40% เพื่อเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

ขณะเดียวกัน อีซีบีจะรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนพ.ย. ซึ่ง ECB จะซื้อพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน โดยยังไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ

ขณะที่ความคืบหน้าในการแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังเป็นไปในทางที่ดี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ทวีตข้อความวันนี้ ระบุว่า จีนจะเริ่มซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐในจำนวนมาก รวมทั้ง พร้อมที่จะคงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไว้ก่อน ในช่วงที่มีการเจรจาการค้ารอบใหม่นี้

โดยกระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงในวันนี้ว่า บริษัทของจีนได้เริ่มสอบถามราคาสินค้าเกษตรของสหรัฐ ซึ่งรวมทั้งถั่วเหลือง และเนื้อสุกร ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการกลับมาซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

แต่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ วันนี้ ซึ่งนักลงทุนติดตามตัวเลข ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. โดยได้รับแรงกดดันจากการดิ่งลงของราคาพลังงาน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ทั่วไปเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนก.ค.

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้น 0.3% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาตั๋วเครื่องบิน, รถยนต์มือสอง รวมทั้งการใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพ