ดัชนีดาวโจนส์ยังปรับลงต่อ กังวลตัวเลขภาคบริการเศรษฐกิจสหรัฐแย่กว่าที่คาด

  • ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงแตะระดับ 52.6 ต่ำสุดรอบ 3 ปี
  • ตามรอยดัชนีภาคการผลิตที่ออกมาก่อนหน้่ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี
  • นักลงทุนจับตาการเจรจาลดมาตรการกีดกันทางการค้าจีน-สหรัฐฯ-ยุโรป

ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน หลุดระดับ 26,000 จุดในช่วงเปิดตลาด หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่ซบเซาตามตัวเลขดัชนีการผลิต อย่างไรก็ตาม เริ่มมีแรงช้อนซื้อจากนักลงทุนเข้ามาหลังเปิดตลาดไประยะหนึ่ง

โดยเมื่อเวลาประมาณ 22.30 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 26,059.62 จุด ลดลง19.00  จุด หรือ -0.07% ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิท กลับขึ้นมาในแดนบวกได้หลังเปิดตลาด โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7,806.90 จุด บวก 21.66 จุดหรือ +0.28% ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ 2,889.97 จุด เพิ่มขึ้น 2.36 จุด หรือ 0.04% 

ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวรุนแรงช่วง  2 วันที่ผ่านมา และยังคงลงต่อเนื่องในวันนี้ หลังผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงแตะระดับ 52.6 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบประมาณ 3 ปีกว่านับตั้งแต่เดือนส.ค.2559 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.3 จากระดับ 56.4 ในเดือน ส.ค.

ซึ่งเป็นการลดลงในทิศทางเดียวกับดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ ซึ่งดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2552 จากระดับ 49.1 ในเดือนส.ค.

ทั้งนี้ อุตสาหกรรรมภาคบริการตามนิยามของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่ เป็นต้น

นักลงทุยยังคงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงตั้งแต่เดือนก.ค. ขณะที่การบริโภค คำสั่งซื้อใหม่ สต็อกสินค้าคงคลังเพื่อการส่งออกและนำเข้า หดตัวลงเช่นกัน เนื่องจากภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลง ขณะที่การประกาศตอบโต้มาตรการภาษีของยุโรป สร้างความไม่มั่นใจเพิ่มขึ้น

ตลาดจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน ขณะที่นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะเจรจาการค้าของจีน ซึ่งคาดว่าการเจรจาอาจจะมีความคืบหน้ามากขึ้้น

ขณะที่จับตาท่าทีของยุโรป หลังนายดาเนียล โรซาริโอ โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า EU พร้อมตอบโต้สหรัฐ หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากยุโรปตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลก (WTO แต่ขณะเดียวกันก็ย้ำว่า EU ยังคงเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับสหรัฐ หากสหรัฐต้องการเจรจา