ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 26จุด นักลงทุนติดตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน

.ดาวโจนส์กลับมาปิดบวกได้วันแรก หลังร่วงติดกัน7วันทำการ
.นักลงทุนช้อนซื้อหุ้นที่มีข่าวดี หุ้นพลังงานพุ่งต่อ
.ตลาดจับตาเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน หวั่นชะลอแรงกระทบเศรษฐกิจโลก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 16 พ.ค.ที่ 32,223.42 จุด เพิ่มขึ้น 26.76 จุด หรือ +0.08%, ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 4,008.01 จุด ลดลง 15.88 จุด หรือ -0.39% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส ปิดที่ 11,662.79 จุด ลดลง 142.21 จุด หรือ -1.20%

ดัชนีหุ้นส่วนใหญ่ยังปิดในแดนลบ แม้ว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาในกลุ่มที่มีข่าวดีช่วยพยุงดัชนีดาวโจนส์ให้ปิดในแดนบวกเล็กน้อย หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยร่วงลง 2.12% โดยหุ้นราล์ฟ ลอเรน ร่วงลง 1.53% หุ้นไนกี้ ปรับตัวลง 0.36% หุ้นบาธ แอนด์ บอดี้ เวิร์คส์ ดิ่งลง 5.1%

ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลง 0.91% นำโดยหุ้นแอมะซอน ร่วงลง 1.99% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ลดลง 0.6% หุ้นแอปเปิล ร่วงลง 1.07% หุ้นอัลฟาเบท ดิ่งลง 1.38% หุ้นอินเทล ร่วงลง 1.19%

หุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลง 8.1% และหุ้นเทสลา ดิ่งลง 5.88% หลังจากนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัทเทสลากล่าวว่า มูลค่าการซื้อกิจการบริษัททวิตเตอร์ควรจะอยู่ต่ำกว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่เขาเสนอซื้อก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นหลังจากราคาน้ำมัน WTI ดีดตัวขึ้นกว่า 3% ขานรับข่าวเซี่ยงไฮ้วางแผนยุติมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ โดยหุ้นเชฟรอน พุ่งขึ้น 3.06% หุ้นเอ็กซอน โมบิล พุ่งขึ้น 2.35% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ พุ่งขึ้น 2.98% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ดีดขึ้น 4.04% หุ้นออคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ทะยานขึ้น 5.68%

หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ปรับตัวขึ้นเช่นกัน นำโดยหุ้นอิไล ลิลลี่ (Eli Lilly) พุ่งขึ้น 2.66% หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอนุมัติการจำหน่ายยา Tirzepatide สำหรับรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) ส่วนหุ้นเมอร์ค แอนด์ โค พุ่งขึ้น 2.11% หุ้นไฟเซอร์ ปรับตัวขึ้น 1.52%

ตลาดติดตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว หลังเศรษฐกิจสหรัฐและจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ร่วงลงแตะระดับ -11.6 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 24.6 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 0 บ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก

ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ของจีน ได้ส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภค, การผลิต และตลาดแรงงาน โดยมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจีนอาจจะหดตัวลงในไตรมาส 2 ปีนี้

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย.ร่วงลง 11.1% ในเดือนเม.ย. ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 6.1% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ลดลง 2.9% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%

ส่วนอัตราว่างงานของจีนในเดือนเม.ย.พุ่งขึ้นแตะระดับ 6.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 จากระดับ 5.8% ในเดือนมี.ค. และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 6.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 7%

นักลงทุนจับตาตัวเลขยอดค้าปลีก เดือนเม.ย.ของสหรัฐฯรวมทั้งการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงวอลมาร์ท, ทาร์เก็ต และโฮมดีโปท์