ดัชนีดาวโจนส์กลับมายืนแดนบวกปิดตลาด เพิ่มขึ้น188 จุด เฟด-รัฐบาลจับมือสู้โควิด-19

  • นักลงทุนมั่นใจเฟดอัดมาตรการต่อเนื่อง ร่วมมือแบงก์กลางทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • รัฐบาลสหรัฐเตรียมแพกเกจ 1ล้านล้านดอลลาร์พยุงภาคธุรกิจ
  • ตัวเลขว่างงานเพิ่มรับพิษโควิด-19 ปิดเมือง

หลังจากที่ตลาดร่วงลงต่อเนื่องหลายวัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาปิดบวกได้จากความเชื่อมั่นการรับมือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 19 มี.ค.ปิดที่ 20,087.19 จุด เพิ่มขึ้น 188.27 จุดหรือ 0.95% ดัชนีอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 2,409.39 จุด เพิ่มขึ้น 11.29 จุดหรือ 0.47% ส่วนดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เพิ่มขึ้น 160.73 จุด ปิดที่ 7,150.58 จุด หรือ 2.3%

นักลงทุนยังคงกังวลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ทวีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วในสหรัฐ และทั่วโลก โดยนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการพร่ระบาดนี้จะยาวนาน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนชน รวมทั้งการออกมาตรการชุดใหญ่ต่อเนื่องและความร่วมมือกับธนาคารกลางอื่นทั่วโลก ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ช่วยให้นักลงทุนมั่นใจได้บ้าง ทำให้มีแรงช้อนซื้อทำกำไรเข้ามาในตลาด ดันดัชนีปิดบวกได้ หลังจากผันผวนขึ้นลงตลอดทั้งวัน

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีชื่อว่า “Families First Coronavirus Response Act” หลังจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐได้ลงมติสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างท่วมท้น

กฎหมายดังกล่าว ซึ่งคาดว่ามีวงเงินสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ครอบคลุมถึงมาตรการแจกเงินสดแก่ชาวอเมริกันวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์ และมาตรการสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมการบินวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานจากผลกระทบของโควิด-19 และให้ชาวอเมริกันสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างที่ลาป่วยจากการติดเชื้อดังกล่าว

ขณะที่มีรายงานข่าวว่า ทำเนียบขาวกำลังพิจารณาการจำหน่ายพันธบัตรอายุ 25 ปี และ 50 ปี เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนโครงการต่างๆตามมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกลางออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บราซิล เดนมาร์ก เม็กซิโก นอร์เวย์ สวีเดน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ในการทำข้อตกลงสว็อปเพื่อเพิ่มสภาพคล่องสกุลเงินดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ระบบการเงินทั่วโลกประสบปัญหาสกุลเงินดอลลาร์ตึงตัว เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.15% สู่ระดับ 0.10% เมื่อวานนี้ และเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีก 2 แสนล้านปอนด์ สู่ระดับ 6.45 แสนล้านปอนด์ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศโครงการใหม่ในการซื้อหลักทรัพย์ของภาคเอกชนและภาครัฐวงเงินรวม 7.50 แสนล้านยูโร โดยการดำเนินการของธนาคารกลางทั้งสองแห่งมีเป้าหมายที่จะรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

หุ้นกลุ่มพลังงานฟื้นตัวขึ้นหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นกว่า 23% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ดีดตัวขึ้น 3.9% หุ้นเชฟรอน พุ่งขึ้น 4.6% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน บวก 2.5% หุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี พุ่งขึ้น 4.5% หุ้นอาปาเช คอร์ป ทะยานขึ้น 9.5% หุ้นเบเกอร์ ฮิวจ์ บวก 4.5%

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจเริ่มเห็นชัดขึ้นเช่นกัน โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้น 70,000 ราย สู่ระดับ 281,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2560 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 220,000 ราย

การพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจแห่ปลดพนักงาน ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่เฟด รายงานดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดิ่งลงสู่ระดับ -12.7 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2555 จากระดับ +36.7 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2560

เฟดระบุว่า นักลงทุนลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มภาวะธุรกิจ และการใช้จ่ายทุนในช่วง 6 เดือนข้างหน้า