ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น

  • อานิสงส์เทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ 
  • สินค้ากลุ่มการแพทย์ป้องกันไวรัสโควิดขายดี
  • วิงวอนรัฐเว้นประกันสังคมให้เอสเอ็มอี6เดือน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา  อยู่ที่ระดับ 92.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. 2562 อยู่ที่ระดับ 91.7 เนื่องจากผู้ประกอบการกลับมาเร่งปริมาณการผลิตหลังจากติดวันหยุดต่อเนื่องจากเทศกาลคริสมาสต์ และเทศกาลปีใหม่ เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา  ทำให้ทุกองค์ประกอบการในคำนวณของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา

 ทั้งนี้เหตุผลสำคัญที่ส่งผลด้านบวกให้ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นฯเพิ่มขึ้น มาจาก การผลิตสินค่าในภาคอุตสาหกรรม ยังได้รับอานิสงส์จากสินค้าที่ใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน(พีเอ็ม 2.5)ในระยะ1-2เดือนที่ผ่านมา ทำให้ มียอดขายเพิ่มขึ้นทั้งการจำหน่ายในประเทศและเพี่อการส่งออก  

 ขณะเดียวกันยังส่งผลดีต่อ สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ ยารักษาโรค และน้ำยาเคมีเพื่อการทำความสะอาดมือและฆ่าเชื้อโรค และกลุ่มเยื่อและกระดาษจากความต้องการใช้หน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับช่วงเทศกาลตรุษจีนได้ช่วย กระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งสงครามการค้าเริ่มคลี่คลายลงจากการที่สหรัฐและจีนบรรลุข้อตกลงการค้าระยะที่ 1และการขยายตลาดส่งออก ส่งผลดีต่อคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของพระราชบัญญัติ( พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 ที่กระทบต่อการลงทุนภาครัฐและการจ้างงาน และปัญหาภัยแล้งยังส่งผลต่อกำลังซื้อในภาคเกษตร                          

 “ผลสำรวจส.อ.ท.ยังพบว่าสมาชิกได้ มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้ภาครัฐยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้างและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เป็นระยะเวลา 6เดือน เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ที่เห็นได้ว่า ได้เมีการปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากทุกสำนัก ทั้งภาครัฐและเอกชน”

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ผลสำรวจระบุว่า อาจปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 99.4 ลดลงจากเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาโดย คาดการณ์อยู่ที่ระดับ 100.1 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2559 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตรจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศ

นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ที่จะมีผลกระทบ ต่อภาคอุตสาหกรรม ล่าสุด ส.อ.ท.ได้สำรวจสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมไทยต่อการส่งออก หลังจากระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถเก็บข้อมูลได้ 19 อุตสาหกรรม พบว่า มี 13 อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย เคมี เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ โรงกลั่น โรงเลื่อย สมุนไพร และ 5 กลุ่มได้รับผลกระทบเชิงบวก ประกอบด้วย เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง และหัตถอุตสาหกรรม และ 1 อุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบ คือ ยา