ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

  • ชี้สถานการณ์เลวร้ายเทียบเคียงวิกฤติต้มยำกุ้ง
  • หลังคนกังวลโควิด-19จนกระทบรายได้-จ้างงาน
  • ซ้ำภัยแล้ง-ราคาพืชผลเกษตรกรตกต่ำฉุดรายได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.63 ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจจากประชาชนตัวอย่าง 2,250 คนทั่วประเทศว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงทุกรายการ ส่วนใหญ่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.63 อยู่ที่ 50.3 ลดจาก 64.8 ในเดือนก.พ.63 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่ 33.6 ลดจาก 42.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 58.2 ลดจาก 74.3  

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.6 ลดจาก 52.5 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจมาตั้งแต่เดือนต.ค.42 หรือต่ำสุดในรอบ 258 เดือน หรือ 21 ปี 6 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน อยู่ที่ 49.3 ลดจาก 61.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 59.9 ลดจาก 80.4

“ดัชนีแต่ละรายการลดลงมากกว่า 10 จุดภายในเดือนเดียว จากความกังวลของโควิด-19 ซึ่งการลดลงเดือนเดียวกว่า 10 จุดทุกายการ ไม่เคยเกิดขึ้นตลอด 21 ปี 6 เดือน เป็นเพราะกังวลกับโควิด-19 ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ การจ้างงาน การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจทั่วไป ขณะเดียวกัน ภัยแล้งยังซ้ำเติมภาคการเกษตร ประกอบกับ ราคาพืชผลหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จึงยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะยังคงลดลต่อเนื่องจนกว่าโควิด-19 จะคลายตัวลง และคาดว่า ผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน”

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสถานการณ์เดียวกับในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 เบื้องต้นประเมินว่า การแพร่ระบาด ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 63 อย่างน้อย 1-1.5 ล้านล้านบาท โดยเป็นความเสียหายของภาคการท่องเที่ยว 700,000 ล้านบาท ภาคการบริโภค 300,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นด้านการค้าชายแดน การส่งออก และอื่นๆ

“มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ขอความร่วมมือหอการค้าจังหวัด ให้ช่วยประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ใหม่ เพื่อรวบรวมมาเป็นข้อมูลในการประเมินเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 63 ใหม่ เบื้องต้น น่าจะติดลบ 6% ถึง ลบ 4%  แต่คงต้องรอผลจากมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ที่กำลังออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในแต่ละกลุ่มว่าทั่วถึง และมีประสิทธิภาพอย่างไรหรือไม่”