ดอกเบี้ย “แตะเบรก” VS เศรษฐกิจ “เทคออฟ”

วันนี้ไปไหนมาไหน หนึ่งในคำถาม ไปจนถึงคำบ่น ที่ได้ยินคนพูดกันมาก นอกเหนือจาก น้ำมันแพง ของแพง ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของคนไทยทุกคนแล้ว คนที่เป็นหนี้ทั้งหลายต่างกังวลใจถึง “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณต่อเนื่องรัวๆ ว่า “จะปรับขึ้นในไม่ช้านี้

โดยแม้ว่าการประชุมนโยบายการเงิน ครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ต่อไป แต่หลังจากอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาพุ่งขึ้นไปที่ 7.1% และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกในเดือน มิ.ย. ก่อนที่ขึ้นสู่จุดพีคสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

กนง.ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยชะลอเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ในระยะต่อไป ขณะที่ผู้ว่าการธปท.ระบุชัดว่า “จะทำช้าไม่ได้ ทำช้าเกินไปจะไม่ดี

ส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 ส.ค. มติที่ประชุม กนง. น่าจะออกมาเป็นเอกฉันท์ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 

และคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นครั้งเดียวแรงพอสมควร โดยปรับขึ้นมากกว่า 0.25% โดยตัวเลขที่คาดกันมากที่สุดน่าจะเป็น 0.5% ในครั้งแรก ส่วนจะมีครั้งต่อไปตามมาหรือไม่ นักวิเคราะห์ยังเสียงแตก

ล่าสุด ในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2 ประจำปี 2565 “ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ระบุว่า โจทย์ใหญ่ของ ธปท.ในขณะนี้คือ การปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติเพื่อลดแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในขณะนี้ แต่จะต้อง “แตะเบรค”ในขนาด และเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถ “เทคออฟ” ต่อไปได้อย่างไม่สะดุด 

โดย ธปท.ประเมินว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจมีแรงส่งที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในประเทศที่กำลังขยายตัวได้ดีขึ้นหลังจากมาตรการผ่อนคลายการคุมเข้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากโควิด-19  และเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ จะเป็นแรงต้านผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องของ ธปท.ไม่ให้กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจรุนแรงเกินไป แต่ยังคงมีฤทธิ์เพียงพอที่จะชะลอการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อทั้งระยะสั้น และระยะปานกลาง

หรือที่เรียกกันว่า Soft Landing ซึ่งเศรษฐกิจประเทศจะยังฟื้นตัวต่อไปได้ในระดับที่มีความมั่นคงยั่งยืนมากขึ้น 

ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจจะยังไม่กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทันที แบบหนึ่งต่อหนึ่ง โดยคาดหวังว่า ธนาคารพาณิชย์จะคงดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะ โดยจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเมื่อดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปแล้วระดับหนึ่ง หรืออาจจะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เพียงบางประเภท เพื่อไม่ให้กระทบลูกหนี้กลุ่มเปราะบางมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม สมมติฐานดังกล่าว อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือเชื่อมากนัก จาก “คนเป็นหนี้” เพราะส่วนใหญ่เมื่อกนง.ขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์จะขึ้นดอกเบี้ยตามทันที มีเพียงไม่กี่ครั้งที่ตรึงต่อเพราะถูก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก“ร้องขอ” จากผู้หลักผู้ใหญ่ 

ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่ใจผลกระทบของดอกเบี้ยต่อภาพรวมของเศรษฐกิจว่าจะก่อให้เกิดการหยุดการใช้จ่ายและการลงทุนจนเศรษฐกิจชะลอตัวแรงเกินไปหรือไม่ รวมทั้ง ไม่แน่ใจผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยต่อความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งเท่าที่รู้กันวันนี้ เริ่มมีผลทางจิตวิทยาแล้วบ้างแล้ว ทั้งการปรับขึ้นของผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร การลดต้นทุนของภาคธุรกิจ การชะลอการใช้จ่าย และการทบทวนการลงทุน

มวยคู่นี้ระหว่าง “ดอกเบี้ยจ่อแตะเบรก” VS “เศรษฐกิจจะเทคออฟ” จะจบลงที่ win win ได้หรือไม่

ลองมาดูต่างประเทศกันบ้างว่า ประเทศไทยที่ธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว และคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในระยะเวลาต่อไปนั้น เงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิของเขาเป็นอย่างไร 

โดยส่วนใหญ่นั้น การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มร้อนแรง โดยเศรษฐกิจปรับขึ้นไปสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ซึ่งแตกต่างกับไทยที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวไปก่อนโควิดในช่วงต้นปีหน้า ในขณะที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งหลังของปีนี้ 

จะมีก็เพียงอังกฤษประเทศเดียวที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก่อนเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากเงินเฟ้อของอังกฤษสูงมาก โดยในเดือน พ.ค.ขึ้นไปถึง 9.1% 

เริ่มต้นจาก ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ในขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัว (อยู่ที่ระดับก่อนโควิด-19 ) แล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564  สหรัฐฯฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 ปี2564 เริ่มขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสที่ 2 ปี 2565 

ฮ่องกง เศรษฐกิจฟื้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ไต้หวันเศรษฐกิจฟื้นไตรมาสที่ 3 ปี2563 ขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสแรกปีนี้ ออสเตรเลียฟื้นไตรมาสแรกปี 2564 ขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสที่ 2 ปีนี้  ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ฟื้นตัวแล้วในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ และคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3

ส่วนหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยแล้วเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ในขณะนี้ทุกประเทศคงกำลังจับตามองเศรษฐกิจสหรัฐฯว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ หลังตัวเลขการคาดการณ์ล่าสุด คาดว่าไตรมาสแรกเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะติดลบ 1.5% 

การขึ้นดอกเบี้ยของไทยในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จึงเป็นความเสี่ยงและความท้าทายที่สูงกว่าหลายประเทศที่ผ่านมาที่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรง ในทางตรงกันข้าม หากมองในแง่ดี การทำก่อนเกิดปัญหาหรือ  “การดับไฟก่อนมีควัน” ซึ่งหนึ่งเป็นสโลแกนของ ธปท.ในปัจจุบัน อาจจะได้ผลที่ดีก็เป็นไปได้