“ดร.โกร่ง” ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย “ไม่สมดุล”

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของประเทศ ส่งสัญญาณการตกต่ำของเศรษฐกิจท่ัวโลก ที่จะกระทบมาถึงประเทศไทยในอีกไม่นานนี้  เมื่อผลตอบแทนการออมของประชาชนในโลกลดน้อยลง ต้องรอนานขึ้น และ เสียเปรียบจากนโยบายของบรรดาผู้นำประเทศมากขึ้น 

โดยขอแนะนำให้ค่อยๆอ่าน และพิจารณาเหตุผลต่างๆเพ่ือรับมือกับส่ิงที่จะเกิดขึ้น

เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถีบตัวสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้ผลตอบแทนต่อการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่เหลืออายุการไถ่ถอน 10 ปีต่ำลง จนเหลือเท่าๆ กับ หรือบางขณะ ต่ำกว่าพันธบัตรที่มีอายุการไถ่ถอนเหลือ 2 ปีนั้นได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี

วีรพงษ์ รามางกูร

ปกติแล้วดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนการออม ถือเครื่องมือในการออมของครัวเรือน หรือประชาชนทั่วไป ดอก เบี้ยของเครื่องมือการออมระยะสั้น ควรจะสูงกว่าระยะยาว เพราะการลงทุนในเครื่องมือการออมระยะยาวที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยจ่ายคงที่ เป็นการตรึงเงินลงทุนไว้นานกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน 

แม้ว่าจะมีตลาดรองที่ผู้ถือหลักทรัพย์อาจจะขายก่อนกำหนดไถ่ถอนได้ แต่ราคาก็จะต่ำกว่าที่ควรจะได้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน  ราคาพันธบัตรที่ซื้อขายก็ย่อมจะสูงต่ำตามเวลาที่เหลืออยู่ในการไถ่ถอน เช่น ราคาควรจะสูงขึ้นเมื่อใกล้เวลาไถ่ถอน หรือราคาจะต่ำกว่า เมื่อเวลาไถ่ถอนยังเหลืออีกนาน เป็นต้น

คล้ายๆกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก ก็ควรจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนก็ควรจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ก็ควรจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอัตรา 6 เดือน เป็นต้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินที่ผิดปกติของธนาคารกลาง

  • ผลตอบแทนการออมคือดอกเบี้ย
  • รอเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

พฤติกรรมของผู้ออมก็คือยอมไม่ใช้จ่ายเงินส่วนหนึ่งในวันนี้ เพื่อสามารถ ใช้จ่ายได้มากขึ้นในวันข้างหน้า  ผลตอบแทนต่อการออมรอเพื่อใช้จ่ายในวันข้างหน้าก็คือดอกเบี้ย  ยิ่งให้รอนาน ก็ยิ่งต้องการผลตอบแทนต่อการรอมากยิ่งขึ้น  เพราะนอกจากจะต้องอดกลั้นรอคอยแล้ว 

ระหว่างนั้นอาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น เช่น ของขึ้นราคา ของขาดตลาด ความนิยมเปลี่ยนไป เป็นต้น ทำให้แผนการใช้จ่ายอาจจะต้องเปลี่ยนไป  ดังนั้น ยิ่งผู้ออม ลงทุนในเครื่องมือการออมที่อายุการไถ่ถอนยาวขึ้น ก็ย่อมต้อง การผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้นเป็นธรรมดา

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่ราคาตราสารหนี้ระยะยาวมีราคาสูงขึ้น จนทำให้ผลตอบแทนต่อการถือตราสารหนี้ระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ของบรรษัทเอกชนต่ำลงกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นกว่า ก็ย่อมหมายความว่า ผู้คนในตลาดการเงินต่างก็เห็นไปทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจในอนาคต 10 ปีข้างหน้าจะซบเซากว่า 2 ปีข้างหน้า และเศรษฐกิจ 2 ปีข้างหน้าจะเลวกว่าปัจจุบัน

ผลตอบแทนต่อการถือตราสารระยะยาวคิดเป็นร้อยละ ก็คือดอกเบี้ยระยะยาวนั่นเอง  เพราะตราสารระยะยาวจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตายตัว อัตราผลตอบแทนจะขึ้นลงตามราคาตราสารหนี้ระยะยาวนั้นๆ เพราะอัตราผลตอบแทนคิดจากราคาของพันธบัตรหรือตราสารหนี้ระยะยาวอื่นๆ นั่นเอง

  • เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • และมีโอกาสจะพัฒนาสู่ภาวะตกต่ำ

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาว หรือผลตอบแทนต่อพันธบัตรอายุไถ่ถอน 10 ปีของรัฐบาลอเมริกา มีราคาเท่ากับ หรือ สูงกว่าพันธบัตรชนิดเดียวกันที่มีอายุ 2 ปี อีกไม่ช้า กล่าวคือ อีก 2-3 ปี เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจโลก ก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ “Recession” และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะเศรษฐ กิจตกต่ำ หรือ “Depression” ได้ 

ถ้าหากนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน ปล่อยให้เกิดภาวะการณ์เช่นนั้นได้ กล่าวคือ ภาวะที่อัตราดอก เบี้ยต่ำที่สุด แล้วเงินเฟ้อไม่มี กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อติดลบ หรือ ต่ำกว่าศูนย์

ในขณะที่ผลตอบแทน หรือ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันอายุ 10 ปี อยู่ในระดับใกล้เคียงกับพันธบัตรอายุ 2 ปี คือประมาณ 1.582 กับ 1.525 ตามลำดับ และบางครั้งผลตอบแทนต่อพันธบัตรอายุ10 ปีต่ำกว่าพันธบัตรอายุ 2 ปี สำหรับพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันนี และญี่ปุ่นผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุไถ่ถอน 10 ปีติดลบไปแล้ว 

กล่าวคือ พันธบัตรรัฐบาลเยอรมันนี และ พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น มีผลตอบแทนต่อพันธบัตรอายุ 10 ปี คือ -0.646 และ -0.23 ตามลำดับ กล่าวคือ ราคาพันธบัตรอายุ 10 ปีในตลาดมีราคาต่ำกว่าราคาซื้อซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ

  • ตลาดการเงินโลกมีทิศทางเดียวกัน
  • ถือเงินสดดีกว่าซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปี

ในกรณีที่ผลตอบแทนต่อการออมระยะยาวติดลบ ก็หมายความว่าผู้คนยอมที่จะถูกลงโทษ ด้วยการได้เงินจากการไถ่ถอนพันธบัตรอายุ 10 ปีในอนาคตน้อยกว่าการถือเงินสดในปัจจุบัน 

การฝากเงินในธนาคารแทนที่จะได้ดอกเบี้ยกลับต้องเสียค่าฝากเงินให้กับธนาคาร แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะพยายามดึงดอกเบี้ยขึ้นก็คงไม่สำเร็จ กรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีการประชุมอีก 2 ครั้งภายในปีนี้  ที่คาดว่า ธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ 

ก็อาจจะไม่แน่เสียแล้ว อาจจะลดดอกเบี้ยครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ทั้ง 2 ครั้งเลยก็ได้ เมื่อการคาดการณ์ในตลาดเปลี่ยนไป อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดก็เปลี่ยนไปด้วย

สัญญาณจากตลาดการเงินทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ชี้ไปในทิศทางที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา Slow Down หรือ ถดถอย Recession 

ประเทศไทย ซึ่งต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ เพราะมูลค่าการส่งออกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แม้ว่าจะต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมูลค่าการส่งออกของเขามีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงกว่าของประเทศเรามาก  เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลกระทบต่อของเขาสูงกว่าของเรามาก  แต่ในขณะที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็จะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า

  • เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยไม่สมดุล
  • ค่าเงินบาทเป็นอุปสรรคการส่งออก

ที่ผ่านมา เงินตราต่างประเทศได้ไหลเข้าสู่ตลาดในประเทศจำนวนมาก ทั้งในรูปการเกินดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลบัญชีเงินทุน เพราะทางการ ตรึงอัตราดอกเบี้ยทางการไว้เป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดโลก  

จึงทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า และประเทศคู่แข่งแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก และการแข่งขันของประเทศไทย อันเป็นสาเหตุสำคัญของการขยายตัวของรายได้ประชาชาติของเราต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้  

ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มากเกินไป ไม่มีการถ่วงดุลกับรัฐมนตรีคลัง จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ที่ไม่มีความสมดุลระหว่างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง Real Sector กับเสถียรภาพของระบบการเงิน Financial Sector

สถานการณ์เช่นนี้ แม้ว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และการเงินของรัฐบาลอาจจะประสบความยากลำบาก  ข้างหน้ามูลค่าการส่งออกจะลดลง ราคาสินค้าโดยทั่วไปจะลดลง โดยเฉพาะสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล  จะลดลง

ก็ไม่ได้หมายความว่าดุลการค้า และดุลบัญชีเงินสะพัดจะอ่อนแอลง เพราะรายจ่ายในการนำเข้าพลังงาน วัตถุดิบ ชิ้นส่วน ราคาก็ลดลงไปด้วย ทำให้ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุล หรือขาดดุลก็เพียงเล็กน้อย

  • แบงก์ชาติควรคิดถึงเศรษฐกิจแท้จริง
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต้องอ่อนค่า

ปัญหาจึงอยู่ที่นโยบายการเงินที่มีผลเร็ว เพราะจะเกิดการคาดการณ์ล่วงหน้าทันที Rational Expectation และรุนแรงเมื่อเทียบกับนโยบายการคลัง ที่ผลจะค่อยๆ เกิด และใช้เวลานาจึงจะเห็นผลเต็มที่ การเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งจะเกิดต่อจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว  

ข้างหน้านี้เศรษฐกิจซบเซาคงจะตามมา จากสัญญาณตลาดทุนที่สถาบันการเงินมีเงิน แต่ไม่มีผู้กู้ จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องลดดอกเบี้ยลง ไม่ให้เป็นโอกาสของทุนต่างประเทศ เข้ามาหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย 

อัตราแลกเปลี่ยนควรจะปล่อยให้อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้า และคู่แข่ง  ธนาคารแห่งประเทศไทยควรคำนึงถึงเสถียรภาพของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง อันได้แก่ การผลิตและการลงทุน การส่งออก สนับสนุนส่งเสริมให้ทุนของไทยไปลงในประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าของเรา โดยการอุดหนุนการส่งออกเครื่องจักรเก่าไปเวียดนาม และเมียนมา กัมพูชา ลาว บังคลาเทศ เพื่อไทยจะได้เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยกว่า  

อย่าไปมองว่าเวียดนาม อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ลาว กัมพูชา เป็นคู่แข่งกับไทย ควรมองว่า เป็นตลาดรองรับสินค้าส่งออกของไทย ถ้ารายได้ประชาชาติต่อหัวของประเทศเหล่านี้สูงขึ้น ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยที่ปริมาณการส่งออกของไทยจะยิ่งสูงขึ้น 

เพราะสินค้าไทยไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ จักรยานยนต์ เสื้อผ้าราคาแพง เครื่องใช้สำนักงานคุณภาพสูง ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย แม้ว่าจะใช้ตราของญี่ปุ่นก็ตาม เป็นไปตามทฤษฎีห่านบินของ ดร.โอกิตะ

  • เลิกมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่ง
  • จีดีพีย่ิงสูงย่ิงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

การเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อต้นทุนที่ถูกลง ในขณะเดียวกัน คุณภาพของสินค้าดีขึ้น สำหรับสินค้าที่มีตราของไทย แม้ว่าจะเป็นตราของญี่ปุ่นเดิมก็ตาม เพราะสินค้าหลายอย่างที่มีตราญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็เลิกทำการผลิตแล้ว หลังจากนโยบายโยกย้ายอุตสาหกรรมออกจากญี่ปุ่น  ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการโยกย้ายอุตสาหกรรมเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว และบัดนี้ก็อาจจะเป็นเวลาที่อุตสาหกรรมไทยต้องโยกย้ายไปต่างประเทศ 

ตัวเลขการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทไทยจึงเป็นข่าวดี ไม่ใช่ข่าวร้าย อย่างที่สื่อมวลชนไทยเข้าใจ การโยกย้ายอุตสาหกรรมจากไทย และจีนไปเวียดนาม พร้อมๆ กับการลงทุนในไทยโดยญี่ปุ่นเจ้าเดิม และจีนเจ้าใหม่ จึงเป็นข่าวที่น่ายินดี

ควรเลิกพูดเรื่องการพัฒนาตลาดภายในประเทศให้มีคำสั่งซื้อจนเป็นฐานการผลิตของเราเพื่อลดความสำคัญของการส่งออก เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลด์ ได้แล้ว  เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน ทั้ง 2 ประเทศมีจำ นวนพลเมืองน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติ  

ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เริ่มพัฒนาโดยการได้สิทธิพิเศษในฐานะประเทศในเครือจักรภพ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์จึงเปรียบเสมือนจังหวัด หรือแคว้นๆ หนึ่งของอังกฤษ ไม่เหมือนอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา เมียนมา และมลายู ซึ่งยังต้องพึ่งการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ เลิกคิดปิดประเทศ หรือมองแค่ว่าจะพัฒนาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

  • เลิกภาษีทรัพย์สิน-ภาษีมรดก
  • ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ในด้านการคลัง รัฐบาลควรลงทุนโดยการออกพันธบัตรกู้จากประชาชน ไม่ควรกู้จากต่างประเทศโดยการกู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาใช้  เพราะขณะนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าหนี้สุทธิของต่างประเทศ ถ้าจะยกเลิกภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกเสียได้ก็จะเป็นสัญญาณที่ดี  เงินออมควรหักออกจากฐานภาษีเสียให้หมด ถ้ายังจะมีเหลืออยู่บ้าง อัตราภาษีเงินได้ส่วนบุคคลก็ควรจะลดลง รวมทั้งอัตราสูงสุดด้วย 

ความคิดที่จะใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือลดความเลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจ เป็นมาตรการทางลบ และไม่ได้ผล ควรใช้มาตรการทางบวก คือ โครงการลงทุน และใช้จ่ายเพื่อลดช่องว่างในด้านคุณภาพชีวิตให้น้อยลง ซึ่งบัดนี้ก็น้อยลงมากแล้ว 

ครั้งนี้ไม่มีพื้นที่ใดในประเทศ เป็นพื้นที่ชนบทอีกแล้ว การว่างงานสำหรับแรงงานระดับล่างไม่มีแล้ว มีแต่การว่างงานของคนมีการศึกษาระดับสูง ที่เพิ่งจบการศึกษา และต้องฝึกงานใหม่ 

ภาษาอังกฤษต้องฟัง พูด อ่าน เขียนให้คล่อง จะทำได้ก็ต่อเมื่อบังคับให้ครูพูดเขียนอ่านภาษาอังกฤษให้ได้เสียก่อน ก่อนที่จะหวังให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้

เศรษฐกิจลงครั้งนี้ คงไม่หนักหนาเหมือนคราวก่อนๆ แต่เปิดโอกาสให้เราได้ก้าวหน้าต่อไปได้อีกขั้นหนึ่ง ถ้ารู้จักทำ