“ดร.อนันต์”ยกเคสวัคซีนสู้โรค ASFV ในสุกรจาก วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนปรับตัวเป็นเชื้อรุนแรง-หวั่นหากใช้ในโอไมครอนอาจเกิดซ้ำรอย

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เทียบการใช้วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์จากเชื้อ ASFV กับโอไมครอน ที่อาจกลับมาเปลี่ยนเป็นรุนแรง โดยระบุว่า 

เรื่องวัคซีนของ ASF ในสุกร เป็นมหากาพย์ครับ ไวรัสตัวนี้เราไม่มีทางลัดที่จะทำวัคซีนมากระตุ้นภูมิในสุกรให้ป้องกันได้ เพราะเราไม่รู้ว่า ภูมิต่อโปรตีนตัวไหนของไวรัส ASFV ควรนำมาฉีดหมูเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เหมือนโควิดเราใช้โปรตีนหนามสไปค์ แต่ ASFV เราไม่รู้ มีหลายคนพยายามลอง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ถ้าไม่รู้แบบนั้น ก็เอา ASFV ทั้งตัวมาทำเชื้อตายฉีดหมูเลยน่าจะได้โปรตีนครบ

เรื่องไม่ง่ายครับ ผลออกมาว่าภูมิที่ได้จากเชื้อตายไม่เพียงพอ ป้องกันหมูไม่ได้

วิธีการที่เชื่อว่าดีที่สุดคือ ใช้ ASFV ยังเป็น ๆ ติดหมูได้ แต่ไวรัสมีคุณสมบัติอ่อนเชื้อลง ด้วยการเปลี่ยนพันธุกรรมของไวรัส เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อจากธรรมชาติ 100%

วิธีนี้สร้างภูมิได้ดีครับ แต่ เชื้ออ่อนฤทธิ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติมองว่าสมดุล ท้ายสุดสามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเชื้อรุนแรงในหมูได้อีก

ปรากฏการณ์ reversion แบบนี้พบได้ในวัคซีนเชื้อเป็นหลายรูปแบบ ที่หลายทีมวิจัยทดสอบมา ทำให้ความกังวลยังมีสูงว่า วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์สำหรับ ASF อาจจะเป็นตัวแพร่เชื้อซะเอง ไม่มีใครกล้าให้ใช้

จริงๆแล้วปัญหาการระบาดในไทย อาจจะเกิดจากการใช้วัคซีนประเภทนี้แล้วเกิด reversion แทนที่จะได้เชื้อจากธรรมชาติโดยตรงก็เป็นได้

บทเรียนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีครับว่า ไวรัสไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองให้อ่อนกำลังลงเสมอไป ไวรัสที่คิดว่าอ่อนเชื้อลง เมื่อให้โอกาสแพร่ไปใน host นาน ๆ เป็นจำนวนมาก ไวรัสจะปรับตัวเองให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม จะอ่อนกำลังลง หรือ รุนแรงขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆมากมาย เราสรุปแบบฟันธงไม่ได้

ย้อนกลับมาที่ Omicron จะสามารถเกิด Reversion เหมือน ASFV ได้หรือไม่ ถ้าไปคิดว่าเป็นไวรัสประหนึ่งเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ และเพิ่มปริมาณตัวเองใน host อย่างมนุษย์ โอกาสเจออะไรที่แปลก ๆ ไปก็คงมีไม่มากก็น้อยครับ