‘ซูเปอร์โพล’ ชี้ฐานการเมืองยังสูสีกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล-ไม่หนุน

  • กลุ่มพลังเงียบขออยู่ตรงกลาง
  • ยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด

วันที่ 1 ต.ค.2565 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ฐานหนุนการเมือง กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง(Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถามผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 2,039 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ย.65 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อพิจารณาฐานสนับสนุนทางการเมืองล่าสุดของประชาชน พบว่า สูสีกัน หายใจรดต้นคอ ระหว่าง กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 31.6 และกลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาล 31.2 ในขณะที่ เป็นกลุ่มพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง ร้อยละ 37.2 ที่ยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของประชาชนในขณะนี้

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนก ฐานสนับสนุนทางการเมืองออกตามความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล พบตัวเลขที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มนิยมพรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 สนับสนุนรัฐบาล มีไม่สนับสนุนเพียงร้อยละ 2.0 และร้อยละ 33.7 ของกลุ่มนิยมพลังประชารัฐเป็นพลังเงียบขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่ กลุ่มนิยมพรรคภูมิใจไทยส่วนใหญ่เช่นกัน หรือร้อยละ 59.5 สนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนมีอยู่ร้อยละ 12.3 และร้อยละ 28.2 เป็นพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง โดยกลุ่มนิยมพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 34.3 สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 24.9 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 40.8 เป็นพลังเงียบ

ส่วนที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มประชาชนที่นิยมพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เช่น พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 10.2 สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 54.2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 35.6 เป็นพลังเงียบขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่กลุ่มประชาชนที่นิยมพรรคก้าวไกล ร้อยละ 13.7 สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 46.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 40.0 เป็นพลังเงียบ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่าผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลต้องการการมีเสถียรภาพมั่นคงในความเป็นรัฐบาลจะสามารถใช้ผลโพลนี้ไปทำความเข้าใจกับตัวเลขในพรรคของตนเองเพื่อบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกและความเป็นจริงภายในกลุ่มนิยมพรรคของตนเองเริ่มต้นจากเขตพื้นที่เลือกตั้งและขึ้นไปสู่การบริหารกระแสนิยมในสื่อมวลชนและสื่อโซเชียลทั้งหลาย โดยเห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มนิยมพรรคพลังประชารัฐมีเพียงร้อยละ 2.0 ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล และมีประมาณ 1 ใน 3 ยังอยู่กลางๆ

ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐจึงมีฐานสนับสนุนเหนียวแน่นสุดต่อการสนับสนุนรัฐบาลในลักษณะใกล้เคียงกันกับกลุ่มประชาชนที่นิยมพรรคภูมิใจไทย แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลที่ควรทำงานหนักกว่าคือ พรรคประชาธิปัตย์ที่มีโจทย์ตัวเลขของผู้สนับสนุนรัฐบาลน้อยกว่าสองพรรคแรกและมีตัวเลขผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลและพลังเงียบสูงกว่า การเร่งทำงานให้ได้ใจประชาชนจึงตกอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์มากกว่าสองพรรคแรกที่กล่าวมา

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อว่า ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องการเพิ่มจำนวนในฝ่ายของตนให้มากกว่ากลุ่มสนับสนุนรัฐบาลนั้น น่าจะพิจารณาก่อนว่าในกลุ่มประชาชนผู้นิยมพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยังมีผู้สนับสนุนรัฐบาลอยู่ในพวกตนเองอยู่ร้อยละ 10.2 และร้อยละ 13.7 ตามลำดับ และยังมีกลุ่มพลังเงียบขออยู่ตรงกลางจำนวนมากระหว่างร้อยละ 35 – 40 ในกลุ่มนิยมพรรคของตนเอง

“สรุปว่า การก่อการทางการเมืองให้ตรงจริตของคนไทยถ้าทำอย่างที่ทำกัน ก็จะได้ฐานหนุนเท่าที่ได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการการห้ำหั่นให้ตายกันไปข้างหนึ่งเหมือนคนในบางประเทศของโลก ดังนั้นถ้าต้องการชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ให้เกิดขึ้นจริงซึ่งเป็นไปได้ ก็ต้องทำงานหนักรับใช้ประชาชนทำให้ประชาชนเห็นว่าที่กำลังทำงานการเมืองอยู่นั้นไม่ไปสั่นคลอนความมั่นคงของประเทศและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนแท้จริง ทั้งเรื่องความสามารถฝีมือผลงานฟื้นฟูเศรษฐกิจแก้ปัญหาปากท้อง ความสงบสุขเรียบร้อยไม่วุ่นวายของบ้านเมือง และความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักธรรมาภิบาลของการปกครองบ้านเมืองที่ดีได้จริงมากกว่าการสาดโคลนยุยงปลุกปั่นในโลกโซเชียลให้บ้านเมืองวุ่นวายสร้างความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชน” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว