“ซีไอเอ็มบีที” เปิดแผนธุรกิจ ปีหน้าลุยดิจิทัลแบงก์กิ้งเต็มพิกัด

  • ตั้งเป้ากำไรก่อนหักภาษีโต 20% จากปีนี้ 1,800 ล้านบาท
  • สำรองลดลง-ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่
  • สินเชื่อโต 10% เน้นรายย่อย-รายใหญ่


นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าจะเป็นธนาคารที่สามารถทำธุรกรรมผ่าน Digital Platform ได้ 100% ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด ด้วย 3 แอปพลิเคชันหลัก คือ 1. CIMB THAI Digital Banking สำหรับทำธุรกรรมพื้นฐานโอนเงิน ชำระเงิน ซื้อขายกองทุน 2. Mobile Lending สำหรับปล่อยสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ผ่านมือถือ 3. Debt Consolidation การรวมหนี้เพื่อรีไฟแนนซ์ลดภาระดอกเบี้ยให้ถูกลง ซึ่งเป็น Digital Platform ที่สามารถทำงานได้รวดเร็วและง่าย รวมถึงการนำบริการที่เชื่อมโยงกับพันธมิตนที่เป็น Non-Bank เข้ามาเสริมบริการให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายมากขึ้น พร้อมตั้งเป้ามีผู้ใช้งาน Digital Platform ของธนาคารในปี 63 ไว้ที่ 500,000 รายสำหรับ แนวโน้มกำไรก่อนหักภาษีจะเติบโตขึ้น 20% จากปีนี้ที่คาด 1,800 ล้านบาท เติบโตขึ้น 600% จากปีก่อนที่ 271 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการตั้งสำรองมีการปรับตัวลดลง จากปี 61 ที่ 4,900 ล้านบาท ลดลงมาเหลือกว่า 2 ,000 ล้านบาทในปีนี้

“ระดับหนี้เสียเราได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้กำไรก่อนหักภาษีเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ตามกลยุทธ์ Fast Forward ให้กระจายตัวไปในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำลง เห็นได้จากการปรับสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อไปที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยและ รายใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่มีกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก” นายอดิศร กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปี 63 เติบโต 3% ส่วนเศรษฐกิจไทยโต 2.7% ไม่ได้แย่มาก แต่ก็ไม่ได้เติบโตรวดเร็วเหมือนที่ผ่านมา โดยหากไปดูการท่องเที่ยว การลงทุน ส่วนที่ไม่ดี คือ อุปโภค บริโภค โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน และ ภาคอสังหาฯ ซึ่งหากมาดูผลประกอบการของเราจะพบว่าปีนี้เป็นปีที่ดีที่สุด หลังเราปรับโครงสร้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

สำหรับสินเชื่อรายย่อยปี 63 ตั้งเป้าเติบโต 8% ซึ่งจะเป็นการเติบโตที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล หลังจากที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาธนาคารเห็นความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขอสินเชื่อบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัลทำให้ธนาคารมีการพัฒนาโซลูชั่นที่ดึงดูดลูกค้าในการคิดอัตราดอกเบี้ยตามประวัติการชำระของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่มีประวัติการชำระที่ดี ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าปกติ โดยธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 42% จาก 14% ในปีนี้ หรือ คิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 3,000 ล้านบาท

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ยังมีการเติบโต เพราะการซื้อรถยนต์ และมอเตอร์ไซด์ไนประเทศไทยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ทำให้มีการใช้สินเชื่อดังกล่าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่สินเชื่อบ้านอาจจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ประกอบกับ มาตรการ LTV ที่กดดันตลาด และ กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจ ทำให้สินเชื่อบ้านจะเป็นลักษณะการเติบโตที่ช้าลงต่อเนื่องมาจากปีนี้ ซึ่งกดดันต่อการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารในปีหน้าเติบโตไม่ถึง 10%