“ซีพี”สอบตกซองเทคนิคคัดเลือกเอกชนลงทุนสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

  • มติเห็นชอบให้ผ่านเกณฑ์ประเมินซองข้อเสนอด้านเทคนิค 2 ราย ได้
  • กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสและกลุ่มแกรนด์ คอนโซเตียมฉลุย

พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือและประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เสร็จสิ้นการประเมินผลข้อเสนอซองที่ 2 หรือข้อเสนอด้านเทคนิค และพิจารณาตามข้อกำหนดเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ที่ได้ระบุให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจัดทำข้อเสนอซองที่ 2 แยกรายละเอียดออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดข้อเสนอด้านเทคนิคและหมวดข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ

ทั้งนี้ ภายหลังการพิจารณาประเมินเอกสารข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับไว้พิจารณาของเอกชน ผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 รายแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติเห็นชอบให้เอกชนที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ประเมิน จำนวน 2 ราย เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 หรือข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งได้แก่ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) 2. กลุ่ม Grand Consortium และมีมติเห็นชอบให้มีหนังสือแจ้งผลการประเมินต่อเอกชนทุกราย พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีการจัดเตรียมการพิจารณาเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ต่อไป โดยคาดว่ากระบวนการคัดเลือกจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในเดือนพ.ย. 2562 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ ภายในเดือนม.ค. 2563

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 3 ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า ธนโฮลดิ้ง จำกัด(นำโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นประการใด คณะกรรมการคัดเลือกฯ พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

พล.ร.อ. ลือชัย กล่าวว่า การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค มีรายละเอียดประกอบด้วย 4 หัวข้อย่อย คือ1.ข้อเสนอการทบทวนแบบแผนแม่บทสนามบิน 2. ข้อเสนอแนวคิดการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของโครงการฯ 3. ข้อเสนอแผนการดำเนินโครงการฯ ถก ข้อเสนอแผนการดำเนินงานและบำรุงรักษา และในส่วนหมวดข้อเสนอด้านแผนธุรกิจ ต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย 4 หัวข้อย่อย คือ 1.ความสามารถในการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการฯ 2. กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ 3. ข้อเสนอเกี่ยวกับประสบการณ์และศักยภาพของผู้ยื่นข้อเสนอ แผนโครงสร้างองค์กรและบุคลากร และความสามารถของบุคลากรที่จะบริหารงานในโครงการฯ 4.แผนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี โดยการประเมินในแต่ละหัวข้อย่อยเป็นแบบให้คะแนน (Scoring) ซึ่งคะแนนของแต่ละหัวข้อย่อยต้องไม่น้อยกว่า 75 % และรวมคะแนนทั้ง 8 หัวข้อย่อยต้องไม่น้อยกว่า 80 % จึงจะถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์ประเมิน

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติเห็นชอบเกณฑ์การประเมินสำหรับการให้คะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ก่อนที่จะมีการเปิดข้อเสนอซองที่ 2 ของเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย โดยเกณฑ์การประเมินดังกล่าว ได้คำนึงถึงความสำคัญและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ จึงมีการพิจารณาใน 3 ด้าน คือ 1. ข้อเสนอมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ มากน้อยเพียงใด 2. ข้อเสนอมีรายะเอียดเนื้อหา/หลักฐาน/ตัวอย่างเพียงพอมากน้อยเพียงใด และ 3. ข้อเสนอแสดงให้เห็นว่าผู้ยื่นข้อเสนอมีศักยภาพต่อการดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุมาตรฐานที่เหมาะสมมากน้อยเพียงใด