ช่วงการชุมนุม13-18ต.ค. มีแกนนำ นักการเมือง ผู้ใช้โซเชียล โพสต์เข้าข่ายผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

  • ทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็นTwitter 75,076 เรื่อง Facebook 245,678 เรื่อง และ Webbord 4,236 เรื่อง
  • เตรียมทยอยส่งดำเนินคดี
  • เตือนประชาชนใช้สื่อออนไลน์อย่างระมัดระวัง

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) แถลงข่าว พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ที่เฝ้าติดตามมอนิเตอร์การกระทำความผิด ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม – 18 ตุลาคม 2563

โดยที่มีทั้งประชาชนแจ้งเข้ามา และทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบ ว่าเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็นTwitter 75,076 เรื่อง Facebook 245,678 เรื่อง และ Webbord 4,236 เรื่อง ซึ่งรวมทั้งผู้โพสต์คนแรก และแชร์ รีทวิตข้อความที่ผิดกฎหมาย

แต่ลำดับแรกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอาผิดเฉพาะผู้โพสต์คนแรกๆ ที่นำเข้าซึ่งข้อความสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก่อนจำนวนหนึ่ง โดยพบว่ามีทั้งเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมืองและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย คนหลักๆ ที่ผิดทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และเข้าข่าย ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาทิ
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Pavin chachavalpongpun” และทวิตเตอร์ที่พบว่าเป็นของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์,
เพจเฟซบุ๊กของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำมวลชน รวมถึงสื่อและการรายงานสถานการณ์ทางออนไลน์ ตามที่กอร.ฉ.ได้ออกหนังสือ เช่น เว็บไซต์ Voice TV และเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth ที่เข้าข่ายผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ส่วนก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น เพจ Royalist Market Place (ตลาดหลวง)ไปแล้ว 2 ครั้ง หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์ม ไม่ทำการปิดกั้นภายใน 15 วัน กระทรวงดีอีเอส จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้เอาผิดตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ต่อไป และล่าสุดมีเพจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องและบุคคลมีชื่อเสียง อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โดยรัฐมนตรีดีอีเอส กำชับและห่วงใย ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)
พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทยอยส่งหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้ ส่งให้ทางกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.)และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. รวมถึงขออำนาจศาล ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาดต่อไป

ทั้งนี้ฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จะโพสต์ข้อความ ภาพสถานการณ์ใดๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่ได้ติดตามและมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหว การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ที่ทำการแชร์ข้อมูล รีทวิตที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเอาผิดทางคดีตามขั้นตอนของกฎหมายทันที